คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่บรรทุกแร่ผิดกฎหมายและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 ต่อมาอธิบดีของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้ ค.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ดำเนินการฟ้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น ดังนี้เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดทั้งได้ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 14 เบญจ วรรคสี่ นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองยึดรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นของโจทก์ไว้นั้นก็เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ด้วย โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อติดตามเอาคืนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-0401 แม่ฮ่องสอน โดยได้เช่าซื้อจากบริษัทสยามนิสสันดีเซล จำกัด เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์โจทก์คันดังกล่าวเป็นของกลาง โดยอ้างว่านายบุญดี ญานดินแดง ผู้ขับรถได้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 ข้อหามีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินกว่า 2 กิโลกรัมและขนย้ายแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมทองได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นทรัพยากรธรณีประจำท้องที่เก็บรักษาไว้เพื่อประกาศหาเจ้าของและนำหลักฐานไปแสดงเพื่อขอรับของกลางคืนตามกฎหมาย โจทก์ได้ไปแสดงตัวต่อจำเลยที่ 2 พร้อมกับขอรับรถยนต์ของกลางคืนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่า หากต้องการรถคืนก็ให้ฟ้องร้องขอคืนภายใน 30 วัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์บรรทุกดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยหากจำเลยทั้งสองไม่อาจคืนไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 836,680 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกของกลางที่จำเลยทั้งสองเก็บรักษาไว้ รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการกระทำผิด ต้องถูกยึดตามกฎหมาย โจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดกับนายบุญดีด้วย จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหรือใช้ราคารถยนต์ของกลางแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่บรรทุกแร่ผิดกฎหมายและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดแล้วส่งมอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 ดูแลรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 ต่อมาอธิบดีของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้นายคำรณอ้อมอารี หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ดำเนินการฟ้องขอคืนรถยนต์ของกลางต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532 และฟ้องคดีนี้วันที่9 ตุลาคม 2532 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา15 เบญจ วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ที่แสดงตัวเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่พนักงานอัยการได้พิจารณาแล้ว และมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือเป็นบุคคลที่ปรากฏหลักฐานในขณะสอบสวนแล้วว่า มิใช่เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอรับกลางคืนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดี” ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง กล่าวอ้างว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ทั้งได้ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลตามบทกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองยึดรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นของโจทก์ไว้นั้น ก็เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ด้วย โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพื่อติดตามเอาคืนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นสำหรับปัญหาต่อไปที่ว่า ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนรถยนต์ของกลางแก่โจทก์หรือไม่ นั้น เห็นว่าปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัย และโจทก์ก็มิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ด้วย จึงเห็นควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวเสียก่อน”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share