แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระและกำหนดเวลาชำระกับหากผิดนัดให้ชำระกันอย่างไรไว้ให้สามารถเข้าใจได้ ส่วนดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เมื่อใด เกินกฎหมายหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม คดีแพ่งของศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่ภริยาจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ คดีดังกล่าวจำเลยที่ 2 ฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของภริยาจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นการส่วนตัวโจทก์ในคดีแพ่งดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้มิได้อยู่ในฐานะเดียวกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของภริยา มิใช่คู่ความในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ บันทึกการจำนำเงินฝากประจำ ระบุว่าภริยาจำเลยที่ 2 จำนำเงินฝากประจำของตนไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของตนและ/หรือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการจำนำเงินฝากเพราะเงินที่ภริยาจำเลยที่ 2ฝากประจำไว้ดังกล่าวตกแก่ผู้รับฝากไปแล้ว การที่ภริยาจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำดังกล่าวมอบให้ไว้แก่โจทก์จึงมิใช่การจำนำเงินฝาก แต่เป็นการตกลงมอบสิทธิที่จะได้รับเงินฝากคืนให้ไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของตนและของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาต่างหากจากสัญญาค้ำประกันที่ภริยาจำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ อันเป็นสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 สัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลนี้ผูกพันตัวภริยาจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวกับสินสมรส จึงมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1476,1477,1480 ที่จำเลยที่ 2จะต้องให้ความยินยอมร่วมกันเป็นหนังสือตามมาตรา 1479 จำเลยที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกของภริยา จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวน 300,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นร้อยละ 14.5 ต่อปี กำหนดชำระให้หมดสิ้นภายในวันที่ 26 กรกฎาคม2529 ในวันเดียวกับที่ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี นางนิดานำสิทธิในเงินฝากประจำจำนวน 300,000 บาท ของตนที่ฝากกับธนาคารโจทก์จำนำเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยยอมให้โจทก์นำเงินฝากดังกล่าวหักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ นอกจากนี้นางนิดายังได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1มีต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาต่อมาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2529นางนิดาถึงแก่กรรมโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อครบกำหนดสัญญาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 350,342.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ครบถ้วนขอให้นำเงินฝากประจำพร้อมดอกเบี้ยของนางนิดาหักใช้หนี้แก่โจทก์หากไม่พอชำระหนี้ขอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และทรัพย์มรดกของนางนิดาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นางนิดาภริยาจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโดยนำสมุดเงินฝากไปเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จริง แต่เป็นการเข้าทำสัญญาอันเป็นสัญญาอันเดียวมิได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันเพื่อรับผิดเป็นการส่วนตัวด้วย เงินฝากในสมุดดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 และนางนิดานางนิดากระทำการค้าประกันโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความยินยอมและมิได้ให้สัตยาบัน สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันกองทรัพย์มรดกของนางนิดา จำเลยที่ 2 ได้บอกล้างสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องของโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยเคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน350,342.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิดาร่วมรับผิดไม่เกินสินส่วนตัวและสินสมรสในส่วนของนางนิดา
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยเคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าคิดดอกเบี้ยตั้งแต่เมื่อใด ทั้งไม่ได้แนบบัญชีกระแสรายวันมาให้ครบถ้วนนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองกำหนดว่าคำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ คดีนี้โจทก์ได้บรรยายแล้วว่าจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ ได้บรรยายอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระและกำหนดเวลาชำระกับหากผิดนัดให้ชำระกันอย่างไรไว้ให้สามารถเข้าใจได้แล้ว ส่วนดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เมื่อใดเกินกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาซึ่งโจทก์ก็ได้นำสืบพร้อมกับส่งสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบัญชีกระแสรายวันแสดงรายการเดินสะพัดทางบัญชีประกอบคำฟ้องแล้วฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เคลือบคลุม
สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 457/2530ของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 457/2530 ของศาลชั้นต้นที่จำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นจำเลยขอเพิกถอนสัญญาค้ำประกันที่นางนิดาภริยาจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น คดีดังกล่าวจำเลยที่ 2 ฟ้องในฐานะส่วนตัวแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิดามิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 457/2530 ของศาลชั้นต้นกับจำเลยที่ 2ในคดีนี้มิได้อยู่ในฐานะเดียวกัน ถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิดามิใช่คู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 457/2530ของศาลชั้นต้นฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 และมาตรา 144 ตามลำดับ
สำหรับปัญหาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า บันทึกการจำนำเงินฝากประจำตามเอกสารหมาย จ.4 ถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 457/2530 บันทึกการจำนำเงินฝากประจำตามเอกสารหมาย จ.4เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.6 จึงเป็นสัญญาฉบับเดียวกัน เมื่อศาลได้พิพากษาเพิกถอนแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า บันทึกการจำนำเงินฝากประจำตามเอกสารหมายจ.4 ระบุว่านางนิดาจำนำเงินฝากประจำของตนไว้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของตนและ/หรือจำเลยที่ 1 นั้นไม่ใช่เป็นการจำนำเงินฝากเพราะเงินที่นางนิดาฝากประจำไว้ดังกล่าวตกแก่ผู้รับฝากไปแล้ว การที่นางนิดานำสมุดคู่ฝากเงินฝากประจำดังกล่าวมอบให้ไว้แก่โจทก์จึงมิใช่การจำนำเงินฝาก แต่เป็นการตกลงมอบสิทธิที่จะได้รับเงินฝากคืนให้แก่โจทก์เพื่อประกันหนี้ของนางนิดาและของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาต่างหากจากสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6 ที่นางนิดาค้ำประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ อันเป็นสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ซึ่งผูกพันตัวนางนิดาที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ มิได้เกี่ยวกับสินสมรส จึงมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1476, 1477, 1480 ที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจะต้องให้ความยินยอมร่วมกันเป็นหนังสือตามมาตรา 1479 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนิดาจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
พิพากษายืน