คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ. 6 ข้อ 6 ระบุว่า “ภายในกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานจ้างนี้โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างจะทำการแก้ไขใหม่ทันทีโดยไม่คิดราคาสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพริ้วไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำแทนต่อไป โดยผู้รับจ้างยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างในการแก้ไขเท่าที่สร้างจริงโดยสิ้นเชิง” จากข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า ภายใน 12 เดือน นับแต่วันรับมอบงานที่ก่อสร้าง ถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซม แต่หนังสือที่โจทก์แจ้งแก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงหนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่องจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบางรายการไม่ถูกต้องตามแบบ ไม่ดำเนินการเก็บงานให้เรียบร้อย จะให้บริษัท ป. เข้าดำเนินการตรวจสอบซ่อมแซมและก่อสร้างให้เรียบร้อยถูกต้องตามแบบโดยจำเลยที่ 1 ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเท่านั้น ถึงจะมีบางฉบับระบุด้วยว่ามีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนใดของงานก่อสร้าง และแม้บางฉบับโจทก์จะได้สรุปความเสียหายให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงรายละเอียดงานก่อสร้างซ่อมแซม และขอให้จำเลยที่ 1 ส่งผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบงานก่อสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ตาม แต่ในขณะที่โจทก์มีหนังสือฉบับดังกล่าวก็เป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ตัดสินใจให้บริษัท ป. เข้าซ่อมแซมงานก่อสร้างแล้ว ดังนั้น หนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดตาม เงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารหมาย จ. 6 ข้อ 6 เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ไขซ่อมแซมงานก่อสร้างที่ชำรุดเสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๑,๓๕๒,๑๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และให้จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงิน ๑,๑๓๘,๒๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๑,๓๕๒,๑๐๐ บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดในจำนวนเงิน ๑,๑๓๘,๒๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาจ้างเหมา ก่อสร้างข้อ ๖ ซึ่งระบุว่า “ภายในกำหนด ๑๒ เดือน นับแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานนี้จากผู้รับจ้างเป็นต้นไป ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานจ้างนี้โดยผู้รับจ้างทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สัมภาระที่ไม่ดี ผู้รับจ้างจะทำการแก้ไขใหม่ทันที โดยไม่คิดราคาสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานจากผู้ว่าจ้างอีก ถ้าผู้รับจ้างบิดพริ้วไม่จัดการแก้ไขหรือซ่อมให้เป็นที่เรียบร้อย ภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำแทนต่อไป โดยผู้รับจ้างยินยอม จ่ายเงินค่าจ้างในการแก้ไขเท่าที่สร้างจริงโดยสิ้นเชิง” จากข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า ภายใน ๑๒ เดือน นับแต่ วันรับมอบงานที่ก่อสร้าง ถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๑ ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ ๑ ไม่แก้ไขซ่อมแซม ในปัญหานี้ ม. วิศวกรผู้ควบคุมงานเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์เบิกความว่า หลังจากรับมอบงานจากจำเลยที่ ๑ ปรากฏว่างานที่จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องหลายประการ โจทก์แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขซ่อมแซมตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑๐ ถึง จ. ๑๔ และยังทำหนังสือสรุปความเสียหายเป็นครั้งที่สอง ตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑๕ แต่ตามเอกสารหมาย จ. ๑๐ ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่โจทก์แจ้ง จำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับการเก็บงานที่จำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเท้าความถึงเอกสารหมาย ล. ๕ แม้ในหนังสือดังกล่าวจะระบุว่ามีความเสียหายเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีก แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนไหนของงานก่อสร้าง และหนังสือดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบว่าโจทก์จะให้บริษัท ป. เข้าดำเนินการตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมทั้ง เก็บรายละเอียดงานก่อสร้างที่ยังบกพร่องอยู่ให้เรียบร้อยแทนจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ตามเอกสารหมาย จ. ๑๑ เป็นหนังสือ ที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ ๑ ขอยกเลิกการซ่อมโดยโจทก์จะให้บริษัท ป. ดำเนินการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ ๑ ในงานก่อสร้าง ที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องทันทีและในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายหลังโดยให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ตามเอกสารหมาย จ. ๑๒ เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ ๑ ว่างานเสริมกำแพงอีก ๓๐ เซนติเมตร เพื่อให้ได้ความสูง ตามแบบ จำเลยที่ ๑ ยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์จะให้บริษัท ป. ดำเนินการโดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เป็นการนำสืบกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๑ และข้อ ๒ ไม่ใช่ข้อ ๖ ซึ่งโจทก์จะต้องบอกกล่าว ให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ดำเนินการ โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ได้ โจทก์ไม่อาจนำเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๖ มาใช้กับ ข้อ ๑ และข้อ ๒ ได้ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๓ เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ ๑ ว่ามีงานก่อสร้างที่จำเลย ที่ ๑ ดำเนินการไม่ถูกต้องตามแบบอีก ๒ รายการ คือ กำแพงรอบสถานีบริการกับท่อลมที่จำเลยที่ ๑ ต้องก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ๑ ท่อ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๑ และข้อ ๒ เช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ. ๑๒ ตามเอกสารหมาย จ. ๑๔ เป็นหนังสือโต้ตอบของโจทก์ให้จำเลยที่ ๑ ทราบว่าโจทก์เคยมีหนังสือลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ให้บริษัท ป. เข้าซ่อมแซมพร้อมทั้งแจ้งนัดให้จำเลยที่ ๑ ทราบว่าจะมีการประชุมที่บริษัทโจทก์ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ขอให้จำเลยที่ ๑ เข้าร่วมประชุมด้วย และตามเอกสารหมาย จ. ๑๕ เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบถึงรายละเอียดงานก่อสร้างซ่อมแซมรวม ๑๙ รายการ และขอให้จำเลยที่ ๑ ส่งผู้ควบคุมงานเพื่อตรวจสอบงานก่อสร้างบางอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ในขณะที่โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ. ๑๕ เป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ตัดสินใจให้บริษัท ป. เข้าซ่อมแซมงานก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ. ๑๐ และ จ. ๑๑ แล้ว ส่วนเอกสารหมาย จ. ๓๓ และ จ. ๓๔ ก็เป็นหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ เก็บงานให้เรียบร้อยซึ่งหมายความว่า งานก่อสร้างที่ก่อสร้างยังไม่เรียบร้อยก่อนที่จะรับมอบงานและชำระค่าจ้างงวดสุดท้าย ดังนี้ เห็นว่า เอกสารหมาย จ. ๑๐ ถึง จ. ๑๕ จ. ๓๓ และ จ. ๓๔ จึงไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้าง ภายในเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ. ๖ ข้อ ๖ เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ได้แก้ไขซ่อมแซมงานก่อสร้างที่ชำรุดเสียหายจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลย ที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ ๓ จะไม่ได้ฎีกา แต่หนี้อันเกิดจากการค้ำประกันเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ ๓ ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕ (๑) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗ ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share