แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนที่ พ. มารดาโจทก์จะถึงแก่ความตาย โจทก์และจำเลยเคยร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินของ พ. ไว้ในคดีแพ่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์ของ พ. ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ประสงค์จะขอรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ ดังนี้ คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นคำฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดแจ้งชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในที่ดินโฉนดเลขที่ 33962 ตำบลซากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แล้วโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพรรณี โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 33962 ตำบลซากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนที่นางพรรณี มารดาโจทก์จะถึงแก่กรรม โจทก์และจำเลยได้เคยร่วมกันทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินของนางพรรณีไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3757/2549 โดยทั้งสองฝ่ายตกลงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 33962 ซึ่งเป็นทรัพย์ของนางพรรณีให้แก่โจทก์ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ประสงค์จะขอรับโอนทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงติดต่อให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพรรณีโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมดำเนินการให้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เช่นนี้เห็นได้ว่า คำฟ้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องที่โจทก์ประสงค์ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพรรณี โอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ในคดีเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง มิใช่มาฟ้องเป็นคดีใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ