แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง
พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นจำเลยในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาท ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์
เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 605,011 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 562,801 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องให้หมายเรียกนายสมศักดิ์ และบริษัทสิงห์พันธ์ กรุ๊ป จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 512,450 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
จำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 1019 อ่างทอง จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 82 – 0383 สระบุรี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 2411 สระบุรี ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถบรรทุกและรถพ่วงของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจำเลยร่วมที่ 1 ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 70 – 0643 สิงห์บุรี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 0641 สิงห์บุรี ของจำเลยร่วมที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา โจทก์ขับรถบรรทุกของโจทก์ดังกล่าวรับจ้างบรรทุกข้าวสาร 180 กระสอบ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟฉัตรเจริญ (1994) เพื่อไปส่งให้ลูกค้า ขณะที่แล่นไปตามถนนสายอยุธยา – อ่างทอง ซึ่งมี 2 ช่องเดินรถไปและกลับ มุ่งหน้าไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุหมู่ที่ 3 ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 2 แซงขึ้นหน้ารถบรรทุกของโจทก์ทางด้านขวา ในขณะเดียวกันจำเลยร่วมที่ 1 ก็ขับรถบรรทุกของจำเลยร่วมที่ 2 แซงรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับทางด้านขวาอีกทอดหนึ่ง แล้วรถบรรทุกที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับเสียหลักไปกระแทกรถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับทำให้รถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับ เสียหลักมาเฉี่ยวชนรถบรรทุกของโจทก์จนเสียหลักลงข้างทางด้านซ้ายแล้วพลิกคว่ำ ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ รถบรรทุกของโจทก์เสียหาย และข้าวสารที่บรรทุกมาตกน้ำเสียหายทั้งหมด จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 ถูกพนักงานอัยการจังหวัดอ่างทองฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจและทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาว่า จำเลยร่วมที่ 1 เพียงผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยประมาทก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว คดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองในข้อแรกตามที่จำเลยร่วมทั้งสองฎีกาว่า คำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ทั้งคำฟ้องเดิมก็ไม่มีคำขอบังคับถึงจำเลยร่วมทั้งสอง ส่วนคำขอบังคับในคำร้องเรียกให้เป็นจำเลยร่วมก็ใช้บังคับแก่จำเลยร่วมทั้งสองไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องนั้น เห็นว่า คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว จำเลยร่วมทั้งสองก็เป็นคู่ความในฐานะจำเลยร่วม หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิด ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง ฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงโดยถือตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กาย ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 คดีระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีส่วนอาญาดังกล่าวกับจำเลยร่วมที่ 1 จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองต่อไปว่า คดีสำหรับจำเลยร่วมทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ ในส่วนของจำเลยร่วมที่ 1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพนักงานอัยการจังหวัดอ่างทองฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2547 อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง เมื่อโจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 ในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ในส่วนของจำเลยร่วมที่ 2 นั้น พยานโจทก์มีร้อยตำรวจเอกมนัส พนักงานสอบสวนในคดีส่วนอาญาเบิกความว่า หลังเกิดเหตุพยานเรียกคู่กรณีเจ้าของรถบรรทุกทั้งสามฝ่ายและเจ้าของข้าวสารที่เสียหายมาเจรจาตกลงค่าเสียหายกัน มีการเจรจากัน 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้ โดยในการเจรจาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 พยานได้ทำบันทึกตกลงค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนครั้งที่ 1 แต่ตามบันทึกดังกล่าวก็ไม่มีข้อความใดแสดงว่าโจทก์หรือตัวแทนโจทก์รู้ตัวผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความตอบคำซักถามว่า หลังเกิดเหตุเมื่อไปที่สถานีตำรวจไม่มีใครบอกว่าผิดมีการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ไม่มีใครยอมรับว่าผิด แม้โจทก์จะเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยร่วมทั้งสองว่า เคยพบผู้รับมอบอำนาจจำเลยร่วมที่ 2 และกรรมการจำเลยร่วมที่ 2 เคยไปเยี่ยมโจทก์ที่บ้าน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นผู้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้รถบรรทุกที่เฉี่ยวชนรถบรรทุกของโจทก์คือรถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ส่วนรถบรรทุกของจำเลยร่วมที่ 2 ไม่ได้เฉี่ยวชนรถบรรทุกของโจทก์ทั้งตามคำเบิกความของโจทก์ในคดีส่วนอาญา โจทก์เบิกความว่า ในเวลาเกิดเหตุไม่เห็นรถบรรทุกของจำเลยร่วมที่ 2 เห็นแต่รถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ขับแซงรถบรรทุกของโจทก์และเฉี่ยวชนรถบรรทุกของโจทก์เท่านั้น โจทก์ไม่ทราบว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 จะเฉี่ยวชนกับรถคันอื่นก่อนที่จะมาชนรถบรรทุกของโจทก์หรือไม่ ส่วนจำเลยร่วมทั้งสองไม่ได้นำพยานเข้าสืบ เพียงแต่อ้างส่งคำเบิกความในคดีส่วนอาญาของจำเลยร่วมที่ 1 และนายสง่า ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ทราบในวันเกิดเหตุหรือวันที่มีการเจรจาตกลงค่าเสียหายว่าจำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ต้องรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์อ้างในคำร้องให้หมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นจำเลยร่วมว่า โจทก์เพิ่งรู้ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ไปเบิกความเป็นพยานในคดีส่วนอาญาว่าจำเลยร่วมที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยร่วมที่ 1 ที่เป็นผู้ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถบรรทุกของจำเลยที่ 2 จนเสียหลักมาเฉี่ยวชนรถบรรทุกของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2549 คดีโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟฉัตรเจริญ (1994)ที่โจทก์บรรทุกมาหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์และโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟฉัตรเจริญ (1994) จะทำข้อตกลงกันว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีไฟฉัตรเจริญ (1994) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจำนวน 230,800 บาท จากจำเลยร่วมทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของข้าวสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 แม้โจทก์จะยังไม่ได้ชำระค่าข้าวสารแต่โจทก์ได้รับความเสียหายจากเหตุละเมิดโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น ดังนี้ เมื่อหักค่าข้าวสารที่เสียหายจำนวนดังกล่าวออกจากความรับผิดของจำเลยร่วมทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว จำเลยร่วมทั้งสองคงต้องร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 281,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 281,650 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ