คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การแบ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุแต่เพียงจำนวนเนื้อที่ที่แบ่งให้แก่โจทก์และบุคคลอื่นเป็นการแบ่งอย่างเลื่อนลอยไม่ชัดเจน ไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินที่ได้รับแบ่งตั้งอยู่ส่วนใด มีอาณาเขตอย่างไร ผู้ได้รับส่วนแบ่งไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินกันได้ถูกต้อง จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องคืนให้ศาลชั้นต้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งแยกที่ดินกันให้มีอาณาเขตแน่นอนว่าส่วนใดเป็นของใครบ้างนั้น ไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใด ตามข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งโจทก์จะมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบและโจทก์ไม่อาจจะฎีกาต่อมาได้ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อตกลงแบ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความหากจะทำให้ ฮ. ไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกเลยหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ ฮ. จะไปว่ากล่าวเอง โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียจากการได้หรือไม่ได้รับมรดกของ ฮ. จึงไม่มีข้ออ้างเป็นเหตุแห่งส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบและโจทก์ไม่อาจฎีกาในปัญหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า นายเม้ง แซ่อึ้ง บิดาของโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 24 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ ก่อนถึงแก่กรรมได้ยกที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้โจทก์ โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์มาตลอดโดยปลูกบ้าน ขุดสระน้ำ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน จำเลยคัดค้านและจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยกับพวกบุกรุกรื้อถอนทำลายบ้านของโจทก์และลักเอาทรัพย์ของโจทก์ไป รวมค่าเสียหายเป็นเงิน 577,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องรบกวน

จำเลยให้การว่า บิดาไม่ได้ยกที่ดินให้โจทก์ แต่ที่ดิน บ้านพัก สระน้ำเป็นของจำเลยที่โจทก์พักอาศัย เพราะโจทก์เป็นน้องชายของจำเลย จำเลยรื้อถอนบ้านเพราะทรุดโทรมและอาจเกิดอันตรายเกี่ยวกับไฟฟ้า โจทก์ไม่มีสิทธิขอรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว จำเลยจึงได้คัดค้าน จำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ หากโจทก์เสียหายทั้งหมดก็ไม่เกิน 55,000บาท ทั้งฟ้องโจทก์เรื่องละเมิดขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า บิดาของโจทก์ได้ยกที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 24 ดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 12 ไร่เศษ ให้โจทก์ โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์โดยแผ้วถางและปลูกต้นไม้เต็มเนื้อที่ที่ได้รับมา ต่อมาโจทก์ได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินที่ได้รับมา แต่จำเลยคัดค้านว่าเป็นของจำเลย ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ซึ่งจำเลยครอบครองทำประโยชน์มานานประมาณ 20 ปีแล้ว ทั้งโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ จำเลย นายถวัลย์ อภิชัยกุล นายหลักกุ่ยหรือธีรศักดิ์ อภิชัยกุล นายสมชัย อภิชัยกุล นางลัดดา อภิชัยกุล นางอมรรัตน์ เหลาตุลา ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลชั้นต้นว่า

ข้อ 1 โจทก์ จำเลย และบุคคลทั้งหมดดังกล่าวยินยอมแบ่งทรัพย์สินที่เป็นที่ดินดังนี้

1.1 ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 46211 เล่มที่ 463 หน้าที่ 11 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง (บางปลาสร้อย) จังหวัดชลบุรี จำนวนเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวาซึ่งนายถวัลย์ อภิชัยกุล เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตกลงแบ่งให้โจทก์จำนวน 7 ไร่ นางลัดดาอภิชัยกุล จำนวน 3 ไร่ นางอมรรัตน์ เหลาตุลา จำนวน 3 ไร่ นายณัฐพงศ์ อภิชัยกุล จำนวน 4 ไร่ ส่วนที่เหลือให้เป็นของนายถวัลย์ อภิชัยกุล ทั้งหมด

1.2 ที่ดินที่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้เสียภาษีอยู่ตกลงแบ่งให้โจทก์จำนวน 12 ไร่ บริเวณวังใหญ่ที่มีอาคารสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 5 หลัง นางลัดดาอภิชัยกุล จำนวน 2 ไร่ นางอมรรัตน์ เหลาตุลา จำนวน 2 ไร่ ซึ่งไม่ติดกับที่โจทก์ ส่วนของนายณัฐพงศ์ อภิชัยกุล จำนวน 14 ไร่

1.3 ที่ดินมือเปล่าที่นายถวัลย์ อภิชัยกุล ครอบครองใช้ประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่แบ่งให้โจทก์จำนวน 20 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

1.4 ที่ดินมือเปล่าที่นายหลักกุ่ยหรือธีรศักดิ์ อภิชัยกุล เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์เสียภาษีบำรุงท้องที่แบ่งให้โจทก์จำนวน 9 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โจทก์และจำเลยยอมให้ที่ดินของตนตัดเป็นทางกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อเข้าสุสานบิดาของโจทก์จำเลย แปลงละ 3 เมตร และให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม ญาติพี่น้องทุกคนเข้าออกได้รวมกว้าง 6 เมตร

1.5 ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการแบ่งแยกที่ดินจากข้อ 1.1 ถึง 1.4 นั้น ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งแต่ละส่วนเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้น

ข้อ 2 คดีความต่าง ๆ ที่โจทก์ จำเลย และที่เกี่ยวข้องกับญาติพี่น้องทุกคดี มีคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1851/2538 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 733/2540 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ยื่นฟ้องนายถวัลย์ อภิชัยกุล คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3558/2539 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2799/2539 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 3445/2537 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 34/2538 ที่มีการร้องขอถอนผู้จัดการมรดก คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2167/2540 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลย คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2173/2540 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2894/2540 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งคดีนี้รวม 8 เรื่อง ทุกฝ่ายตกลงถอนฟ้องถอนคำร้องทุกข์ และไม่ติดใจดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดทั้งสิ้นอีก

ข้อ 3 ที่ดินมือเปล่าฝั่งตรงข้ามที่ดินที่จำเลยแบ่งให้โจทก์ด้านฝั่งถนนสายบึง -แกลง ด้านซ้ายมือจากทางที่มาจากอำเภอแกลงที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1536/2540 จำนวน 12 ไร่ จำเลยไม่เกี่ยว และโจทก์จะไปตรวจสอบด้วยตนเอง โดยไม่เกี่ยวข้องในที่ดินแปลงตามข้อ 1.2 โดยเมื่อโจทก์ไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดต่อสำนักงานที่ดิน จำเลยและนายสมชัย อภิชัยกุล ตกลงไม่คัดค้าน หรือหากมีการคัดค้านจะไปดำเนินการถอนคำคัดค้าน

ข้อ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืน ค่าทนายทั้งสองฝ่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ติดใจที่จะเรียกร้องซึ่งกันและกันอีก

ข้อ 5 หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บุคคลใดคนหนึ่งผิดนัด หรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

ข้อ 6 โจทก์ จำเลยยินยอมตามข้อ 1 ถึง 5

ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา ความปรากฏแก่ศาลชั้นต้นว่าจำเลยถึงแก่กรรม นางสุรินทร์ อภิชัยกุล ภริยาของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาประการต่อมาว่า การแบ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุแต่เพียงจำนวนเนื้อที่ที่แบ่งให้แก่โจทก์และบุคคลอื่น เป็นการแบ่งอย่างเลื่อนลอย ไม่ชัดเจนไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินได้รับแบ่งตั้งอยู่ส่วนใด มีอาณาเขตอย่างไร ผู้ได้รับส่วนแบ่งไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินกันได้ถูกต้อง จึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องคืนให้ศาลชั้นต้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งแยกที่ดินกันให้มีอาณาเขตแน่นอนว่าส่วนใดเป็นของใครบ้างนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน (3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือประนีประนอมยอมความ ปรากฏว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยมีข้ออ้างในชั้นอุทธรณ์เช่นเดียวกับในชั้นฎีกาดังกล่าวข้างต้น อันเป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใด ตามข้อยกเว้นดังกล่าวซึ่งโจทก์จะมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ตามที่โจทก์อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่อาจจะฎีกาในปัญหาข้อนี้ต่อมาได้ตามนัยของมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่า นางฮวย แซ่อึ้ง มารดาของโจทก์เป็นเจ้าของมรดกและทายาทอันชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับไม่ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินแปลงใดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเลย ในขณะที่ทายาทอื่นได้รับส่วนแบ่งกันทุกคน จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่าข้อตกลงแบ่งที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหากจะทำให้นางฮวยไม่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมรดกเลยหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่นางฮวยจะไม่ว่ากล่าวเอง โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียจากการได้หรือไม่ได้รับมรดกของนางฮวย จึงไม่มีข้ออ้างเป็นเหตุแห่งส่วนได้เสียอันจะอุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยในปัญหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่อาจฎีกาในปัญหานี้ได้ตามนัยของมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นกัน”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาโจทก์

Share