คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้จัดการของบริษัท ท. จำกัด ได้สั่งเครื่องจักรหลายประเภทเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงในใบขนสินค้า ขาเข้าเพื่อชำระอากรต่ำกว่าราคาที่แท้จริง อันเป็นการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ทั้งฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 และฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรตามมาตรา 27 ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกัน แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 99 เพราะขาดอายุความแล้ว ก็ย่อมฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 27 ได้ ความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร นอกจากจะเอาความผิดต่อผู้หลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรแล้ว ยังเอาผิดต่อผู้ที่ เกี่ยวข้อง ในการหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรด้วย ฉะนั้น แม้บริษัท ท. จำกัด จะ เป็น ผู้นำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร แต่เมื่อจำเลย ซึ่ง เป็น ตัวแทน ของบริษัท ท.จำกัดเกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรของบริษัทท.จำกัด ด้วย จำเลยย่อมมีความผิดฐานดังกล่าว เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมศุลกากรได้เรียกให้ จำเลยไปตกลงระงับคดี โดยจะเปรียบเทียบปรับแก่จำเลย แต่เมื่อจำเลยไม่ยอมชำระค่าปรับตามที่ตกลงยินยอมกรณีก็ถือไม่ได้ว่า มีการเปรียบเทียบปรับอันจะทำให้คดีของจำเลยเลิกกันตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 102,102 ทวิ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 ประกอบมาตรา 37(4).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 869,469.80 บาท จำเลยให้การรับต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและพนักงานสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงเหลือค่าปรับ 652,102.35 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย ส่วนฟ้องข้อ ข. ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยหากจะเป็นผิดกฎหมายก็เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าว ซึ่งขาดอายุความไปแล้ว แต่โจทก์มาแกล้งฟ้องจำเลยในข้อหาตามฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำ หรือยื่น หรือจัดให้ผู้อื่นซึ่งใบขนสินค้า คำสำแดง ใบรับรอง บันทึกเรื่องราว หรือตราสารอย่างอื่นต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ หรืออันพระราชบัญญัตินี้บังคับให้กระทำนั้น เป็นความเท็จ…ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด…”แล้ว การกระทำของจำเลยยังเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรตามมาตรา 27ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษี… หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายหรือข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า… โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ …” อีกด้วย ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกัน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 99 เพราะคดีขาดอายุความโจทก์ก็ย่อมฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คดีของจำเลยได้มีการเปรียบเทียบไปแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102ประกอบด้วยมาตรา 102 ทวิ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากรที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรหรือคณะกรรมการที่ระบุไว้ในมาตรานั้น มีอำนาจที่จะงดการฟ้องร้องแก่บุคคลผู้กระทำความผิดตามมาตรา 27 ได้ เฉพาะในกรณีที่บุคคลนั้นตกลงยินยอมและใช้ค่าปรับก่อนจะถูกฟ้องแล้วเท่านั้น ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามที่ตกลงยินยอมจึงถือไม่ได้ว่า มีการเปรียบเทียบคดีอันจะทำให้คดีของจำเลยเป็นอันเลิกกันตามมาตราดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ประกอบด้วยมาตรา 37(4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า บริษัทไทยเจริญ (ฮ่องกงท้าวไต๋)จำกัด เป็นผู้นำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยในฐานะตัวแทนไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 นอกจากจะเอาความผิดกับผู้หลีกเลี่ยงภาษีอากรแล้ว ยังเอาความผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรนั้นด้วย เมื่อจำเลยเกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่บริษัทไทยเจริญ (ฮ่องกงท้าวไต๋) จำกัด เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงต้องเป็นความผิดจำเลยจะยกเอาเหตุว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาลดโทษให้จำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share