แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ มีหน้าที่รับฝากเงินค่าขายตั๋วโดยสาร ได้ละทิ้งหน้าที่ไปอันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์เป็นเหตุให้คนร้ายงัดประตูด้านหลังตึกเข้ามางัดลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยและตู้เหล็ก ลักเอาธนบัตรและเงินเหรียญของโจทก์ไปได้ เช่นนี้ โจทก์บรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องสองทาง เมื่อสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานการเงินมีหน้าที่รับฝากเงินค่าขายตั๋ว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2523จำเลยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่รับเงินค่าขายตั๋วโดยสารตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 17นาฬิกา ถึง 1 นาฬิกา จำเลยได้ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่เวลา 16นาฬิกาและต่อมานายชูศักดิ์ บุญจ่าย ก็ได้ออกจากที่ทำงานกลับบ้านไปด้วย เมื่อจำเลยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ปรากฏว่าห้องการเงินถูกงัด ธนบัตรและเงินเหรียญที่เก็บไว้ในโต๊ะทำงานและตู้เหล็กถูกงัดเอาไปเป็นจำนวนเงิน 16,980 บาท คณะกรรมการของโจทก์สอบสวนแล้วเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากจำเลยและนายชูศักดิ์ละทิ้งหน้าที่ เป็นการทำผิดข้อบังคับของโจทก์ โจทก์จึงลงโทษไล่จำเลยและนายชูศักดิ์ออกจากงานให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 16,980 บาทที่หายไป จำเลยยอมรับผิดและทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์แต่จำเลยผิดนัด ขอบังคับให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 16,960 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า การที่คนร้ายมางัดที่ทำงานและขโมยเอาเงินตามฟ้องไปมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยมูลคดีเป็นมูลละเมิด คดีขาดอายุความแล้ว ขณะทำงานโจทก์ได้หักเงินค่าจ้างของจำเลยประกันความเสียหาย 2,500 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 2,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 16,980 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่16 พฤศจิกายน 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดอันมีอายุความ 1 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า1 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วโจทก์ได้บรรยายฟ้องใจความว่า จำเลยในฐานะลูกจ้างประจำของโจทก์ ตำแหน่งพนักงานการเงินมีหน้าที่รับฝากเงินค่าขายตั๋วโดยสาร ได้ละทิ้งหน้าที่ไปอันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์เป็นเหตุให้คนร้ายงัดประตูด้านหลังตัวตึกเข้ามางัดประตูด้านหลังห้องการเงินและงัดลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยและตู้เหล็ก แล้วลักเอาเงินธนบัตรและเงินเหรียญของโจทก์จำนวนเงินตามฟ้องไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ฯลฯ จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเห็นว่า เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ซึ่งในกรณีเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางสำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยก่อนครบกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ…
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า หากฟังว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนตามฟ้องที่ถูกลักไปให้แก่โจทก์ ก็ชอบที่จะหักเงินประกันความเสียหายจำนวน 2,500 บาท ที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยออกจากเงินของโจทก์ที่ถูกลักไป ศาลฎีกาเห็นว่าเงินประกันตามระเบียบองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพว่าด้วยเงินประกันและผู้ค้ำประกันของพนักงาน พ.ศ. 2523 ข้อ 8 เป็นค่าเสียหายที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า โจทก์จะริบเงินประกันตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 8.3 และข้อ 8.5 ได้เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแต่ในคดีนี้โจทก์พิสูจน์ได้เพียงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเท่าจำนวนเงิน 16,980 บาทที่ถูกลักไปเท่านั้นโจทก์จึงริบเงินประกันจำนวน 2,500 บาทไม่ได้ จะต้องหักเงินจำนวนนี้ออกจากจำนวนเงิน 16,980 บาทก่อน แล้วให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ขาด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิริบเงินประกันดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 14,480 บาทแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.