แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาขายฝากที่ดิน น.ส.3 ตกเป็นโมฆะ การคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองและโจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ไม่ปรากฏชัดเจนว่าได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 234,162 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,234,162 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน769,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่28 ธันวาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่28 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 2 ได้ขายฝากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 561 แก่โจทก์ทั้งสองตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.4 และวันที่ 29 มีนาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 แก่โจทก์ทั้งสองตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะเพราะโจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 769,230 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าเมื่อสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5ตกเป็นโมฆะแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่รับมัดจำไว้จำนวน 400,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจากการขายฝากที่เป็นโมฆะแต่อย่างใดเห็นว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จึงไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าจำเลยที่ 1 รับเงินเฉพาะมัดจำจากโจทก์ทั้งสองไว้ 400,000 บาท โดยเงินค่าขายฝากที่ดินยังไม่ได้รับจึงรับฟังไม่ได้ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง แต่ฟังได้ว่าในวันที่ 28 ธันวาคม 2537 นั้นโจทก์ทั้งสองได้มอบเงินจำนวน 2,000,000 บาท เป็นค่ารับซื้อฝากที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองฉบับตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จึงได้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีแม้ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อรวมราคาขายฝากแล้วเป็นเงิน 2,000,000บาท ก็ตาม แต่ได้ความจากโจทก์ที่ 1 เองว่า รวมเอาค่าดอกเบี้ยจำนวน 600,000 บาทเข้าไปด้วย ดังนั้น ราคาขายฝากที่แท้จริงของที่ดินทั้งสองแปลงที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์จึงเป็นเงินเพียง 2,000,000 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยตามส่วนแล้ว คงเป็นราคาขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปจากโจทก์ทั้งสองเพียง 769,230.77 บาท เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะนั้น ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับกล่าวคือ ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งก็ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวน 769,230.77 บาท ที่ได้รับให้แก่โจทก์ทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน769,230 บาท ยังไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่พิพากษาแก้ไขให้ และเมื่อฟังได้ว่าสัญญาขายฝากที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ตกเป็นโมฆะแล้ว เห็นสมควรเพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมดังกล่าวเสียด้วย สำหรับเรื่องดอกเบี้ยนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินจำนวน 769,230บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ เพราะเป็นหนี้เงิน แต่ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายไว้เพียงว่า โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามขอรับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองแล้ว โดยไม่ปรากฏชัดเจนว่าทวงถามขอคืนตั้งแต่เมื่อใด โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความในเรื่องนี้เพียงว่าโจทก์ทั้งสองได้พยายามติดตามจำเลยทั้งสองให้คืนเงินแต่ไม่พบจำเลยทั้งสอง โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงให้เชื่อได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินที่รับไว้และจำเลยที่ 1 ทราบแล้วตั้งแต่เมื่อใด จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว อันจะถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายฝากตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนเงินนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองผู้รับซื้อฝากนับแต่เวลานั้นแล้ว ดังนั้น โจทก์ทั้งสองคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2537 นั้น เป็นการให้ชำระมากไปกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินจำนวน 769,230 บาท แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ กับให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 188 ตำบลเขาทราย (ท้ายทุ่ง) อำเภอทับคล้อ (ตะพานหิน) จังหวัดพิจิตร ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2538 ระหว่าง จำเลยที่ 1 ผู้ขายฝาก กับโจทก์ทั้งสองผู้รับซื้อฝาก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6