คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินและจำนองประกันการกู้ยืมไว้กับโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ฝากเงินไว้กับโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์ ในการที่จะให้โจทก์ดำเนินการเป็นนายหน้าและตัวแทนในการ ซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นหลักประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่อง นิติกรรมอำพรางหรือนิติกรรมทำขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวงสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน4,260,482.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีจากต้นเงินกู้นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ค้างชำระให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นด้วยการร่วมกันแสดงเจตนาลวง และเพื่อเป็นการอำพรางสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ประเภททดรองจ่ายสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน4,260,482.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน3,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนายหน้าและตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2533 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจแจ้งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์แทนจำเลยที่ 2 ในการซื้อขายหลักทรัพย์โจทก์จะเป็นผู้ออกเงินทดรองเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นให้แก่จำเลยที่ 2 ภายในวงเงิน 2,500,000 บาท และเพื่อเป็นหลักประกันในการออกเงินทดรองเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์จำเลยที่ 2 จะต้องนำตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละตามที่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ระเบียบหรือประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังกำหนดไว้ในแต่ละครั้งมาจำนำเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ไว้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.9, ล.10 และ ล.11 ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2534 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 3,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีผิดนัดคิดดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้ยืมไว้ ตามเอกสารหมาย จ.ล.13, จ.ล.14 และ จ.7
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันตามเอกสารหมาย จ.ล.13 และ จ.ล.14 มีผลผูกพันคู่กรณีหรือไม่ ในประเด็นนี้จำเลยทั้งสองฎีกาในทำนองว่า สัญญาดังกล่าวทำขึ้นเพื่ออำพรางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยในการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง เนื่องจากโจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองสั่งซื้อหลักทรัพย์สูงเกินกว่าหลักประกันที่จำเลยที่ 2 ได้ให้ไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนสูงมาก ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยโจทก์และจำเลยจึงทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเงินจำนวน 3,000,000 บาท ทั้งมีสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 3,500,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างและที่ดินเป็นหลักประกันการที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายในการซื้อหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับเงินจากการกู้ยืมดังกล่าวจากโจทก์แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีนายบุญชัย ใจเที่ยง และจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่าในการกู้ยืมเงินโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน 3,500,000 บาท เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2534 เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้ ตามเอกสารหมาย ล.3 ล.4 และ ล.6 และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ก็ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่โจทก์จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงินได้ในวันดังกล่าว ตามเอกสารหมาย ล.3 (ส่วนที่ 2)และ ล.7 ในวันนั้นโจทก์ก็ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนเงิน3,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.8ฉบับที่ 2, 3 และ 4 กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ได้ชำระเงินกู้จำนวน3,500,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว และจำเลยที่ 2 ก็ได้รับเงินจำนวนที่กู้จากโจทก์ไปแล้วโดยวิธีการโอนเงินตามวิถีทางธนาคารซึ่งปรากฏหลักฐานการรับเงินตามเอกสารหมาย ล.6 ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้จ่ายเงินคืนให้แก่โจทก์ ก็เพราะจำเลยที่ 2 นำเงินดังกล่าวฝากไว้กับโจทก์ตามวิธีการโอนเงินทางธนาคารเช่นเดียวกันปรากฏตามเอกสารหมาย ล.7 โจทก์จึงได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ 2 จะทำการซื้อขายหุ้นกับโจทก์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ และเป็นหลักเกณฑ์ที่จำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติกับโจทก์อยู่ก่อนแล้ว ปรากฏตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่เบิกความตอบคำถามค้านว่า “จำเลยที่ 2 ฝากเงินจำนวน 1,000,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ล.8 ฉบับแรกเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ 2 จะทำการซื้อขายหุ้นกับโจทก์จำเลยที่ 2 ตกลงฝากเงินดังกล่าวกับโจทก์” ทั้งยังปรากฏว่าเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งกรณีผิดสัญญาตัวแทนและนายหน้าก็ปรากฏหลักฐานในคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยมีตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 3 มกราคม 2535 ซึ่งมีจำนวนเงินตามตั๋วเป็นเงินถึง6,064,533.41 บาท กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้รวมถึงจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินมาจากโจทก์ด้วยปรากฏตามคำฟ้องเอกสารหมาย ล.15 การที่จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินและจำนองประกันการกู้ยืมไว้กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2ฝากเงินไว้กับโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์ในการที่จะให้โจทก์ดำเนินการเป็นนายหน้าและตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 2โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางหรือนิติกรรมทำขึ้นด้วยการแสดงเจตนาลวง สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนองดังกล่าว
พิพากษายืน

Share