คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันที่ทำสัญญาแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์สอบถามไปยังบริษัท ส. จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัท ส. และชำระราคาแล้ว แล้วได้มีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมื่อคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัท ส. ด้วย ทำให้บริษัท ส. ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัท ส. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัท ส. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัท ส. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการซื้อขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์ทุกชนิด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์จดทะเบียน ขอ ซื้อ รับโอนหรือจัดให้ได้มาด้วยวิธีการอื่น ๆ ตามหนังสือรับรองท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน เลขตัวถังทีจีดี 21 – 678975 หรือทีจีดี 21 – ซี 7897 เลขเครื่องยนต์บีดี 25 – ทีโอ 64402 สีดำ ซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่ยังไม่มีหมายเลขทะเบียนประจำรถจากจำเลยที่ 1 โดยโจทก์นำรถยนต์เก่าพร้อมเงินอีก 260,000 บาท มาแลกเปลี่ยนรถยนต์ใหม่จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวแก่โจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบแผ่นป้ายวงกลมและป้ายทะเบียนรถยนต์ 9 ท – 8138 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ ส่วนคู่มือการจดทะเบียนจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะได้ในภายหลัง ต่อมาโจทก์ได้ติดต่อทวงถามให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์แต่ไม่สามารถติดต่อกับจำเลยที่ 1 ได้ หลังจากนั้นโจทก์สอบถามไปยังบริษัทนิสสัน (ที่ถูก น่าจะเป็นบริษัทสยามกลการ จำกัด) ได้รับแจ้งว่า จำเลยที่ 2 นำคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครอง โดยเป็นผู้เช่าซื้อ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ท – 8138 กรุงเทพมหานคร อยู่ก่อน จึงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 และมาตรา 1336 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบคู่มือการจดทะเบียนให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีสิทธิเดียวกว่าโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้คู่มือจดทะเบียนรถยนต์และไม่สามารถใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้ตามปกติสุข ขอให้เพิกถอนรายชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ท – 8138 กรุงเทพมหานคร และให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่สามารถบังคับได้หรือจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามที่โจทก์ขอ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามให้จำเลยทั้งสามหรือคืนใดคนหนึ่งจดทะเบียนโอน
ระหว่างพิจารณา บริษัทพระนคร ยนตรการ จำกัด ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 3 จากการขายสินทรัพย์ซึ่งกระทำโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบ จึงขอเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้มาขอสินเชื่อประเภทเช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 อนุมัติให้สินเชื่อไปโดยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนจากผู้ขายในท้องตลาดและทำสัญญาให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไปตามปกติในกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ของทางราชการโดยสุจริตถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งจำเลยที่ 3 ก็ได้รับมอบการครอบครองรถยนต์พิพาทจากผู้ขายโดยสุจริตก่อนโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยถูกต้อง สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์โจทก์ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทมาตั้งแต่ปี 2536 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การว่า กระทรวงการคลังมีคำสั่งระงับการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 3 รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่นรวม 56 แห่งคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินได้เข้าควบคุมดูแลพร้อมทั้งชำระบัญชีแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 56 แห่ง รวมทั้งจำเลยที่ 3 ด้วย คณะกรรมการได้ประกาศขายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวรวมทั้งสินทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ปรากฏว่าจำเลยร่วมประมูลซื้อสินทรัพย์ที่เช่าซื้อประเภทรถยนต์ได้ จำเลยร่วมเป็นบุคคลภายนอกได้ประมูลซื้อสินทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยเปิดเผย โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความรับรองและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริต และจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทโดยสุจริตก่อนโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย สัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีผลบังคับและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ และให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมออกจากคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทนั้นเสียให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมมีเหตุขัดข้องไม่อาจดำเนินการใดๆ ได้ดังที่กล่าวมาก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนคำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันทำสัญญาแต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท คงส่งมอบแผ่นป้ายวงกลมและป้ายทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์เท่านั้น โจทก์สอบถามไปยังบริษัทนิสสัน (ที่ถูกน่าจะเป็นบริษัทสยามกลการ จำกัด) จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยในวันที่ 18 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ล.ร.1 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัทสยามกลการ จำกัด ตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย ล.ร.3 จำเลยที่ 3 ชำระราคารถยนต์พิพาทให้แก่บริษัทสยามกลการ จำกัด แล้ว ตามใบสำคัญการจ่ายเงินเอกสารหมาย ล.ร.4 ถึง ล.ร.7 จึงมีการจดทะเบียนว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองในวันที่ 6 กันยายน 2536 ตามสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ.6 เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์พิพาทอยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัทสยามกลการ จำกัด เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัทสยามกลการ จำกัด ด้วย ทำให้บริษัทสยามกลการ จำกัด ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัทสยามกลการ จำกัด ตามคำขอของโจทก์ ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัทสยามกลการ จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัทสยามกลการ จำกัดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัทสยามกลการ จำกัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

Share