คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกและขุดต้นยูคาลิปตัสของโจทก์ ขอให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหาย 81,000 บาท ซึ่งความรับผิดทางแพ่งเกิดจากการกระทำผิดอาญาอันมีมูลคดีเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคำพิพากษาคดีส่วนอาญายุติแล้วว่า พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ดังนี้จะฟังข้อเท็จจริงใหม่เป็นอย่างอื่นหาได้ไม่
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 47 จะบัญญัติว่าคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกลับข้อเท็จจริงที่จำต้องรับฟังตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลจึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 81,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธในส่วนอาญาและให้การคดีในส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา แต่ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤษภาคม 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คดีส่วนแพ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีส่วนแพ่งของโจทก์เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ที่โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันบุกรุกและร่วมกันขุดต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกไว้ออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง และเรียกค่าเสียหายจำนวน 81,000 บาท ซึ่งความรับผิดทางแพ่งเกิดจากการกระทำผิดอาญาอันมีมูลคดีเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคำพิพากษาคดีส่วนอาญายุติแล้วว่า พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ยังไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ดังนี้จะฟังข้อเท็จจริงใหม่เป็นอย่างอื่นหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างนายฮั้ว นำรถแบ็คโฮไปขุดถอนต้นยูคาลิปตัสในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์แล้วนายฮั้วให้คนงานของตนนำรถแบ็คโฮไปทำงานตามที่ตนรับจ้างโดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ชี้แนวเขตที่ดินของตนถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 นั้น จึงไม่ชอบ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าวโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายมาในฟ้องจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งอีกด้วย แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่าคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกลับข้อเท็จจริงที่จำต้องรับฟังตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ศาลจึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share