คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4070/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีไปครั้งหนึ่ง โดยกำชับจำเลย ให้เตรียมพยานมาให้พร้อมเพื่อให้สืบทั้งหมดในวันนัด หากพยานฝ่ายใดไม่มาศาลจะถือว่าฝ่ายนั้นไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อถึงวันนัดทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าจำเลยติดธุระจำเป็นที่กรุงเทพมหานครอันเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอัน ไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และจำเลยมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของ ศาลว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ดังบัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคแรก พฤติการณ์ของจำเลย ดังกล่าวส่อแสดงว่า จำเลยเพิกเฉยไม่สนใจในการดำเนินคดีของตน เป็นการประวิงคดี ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และงดสืบพยาน จำเลยเสียได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 469,760.26บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 430,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่อาจมาศาลเพราะจำเลยที่ 1 ติดธุระจำเป็นอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนจำเลยที่ 3 เดินทางไปต่างจังหวัดยังไม่กลับมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจำเลยทั้งสามไม่มีพยานมาศาล จึงให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสาม แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 430,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13กุมภาพันธ์ 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่23 พฤศจิกายน 2530 และวันที่ 30 ธันวาคม 2530 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 1 ส่วนอุทธรณ์ข้อ 2 เป็นอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งไว้จึงไม่รับ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและสั่งงดสืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปในวันเดียวกันนั้นชอบแล้ว พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และงดสืบพยานจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่าในวันนัดชี้สองสถานวันที่23 พฤศจิกายน 2530 จำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วแต่ไม่มาศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสองให้ถือว่าจำเลยได้ทราบกระบวนพิจารณาของศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 25 ธันวาคม 2530 แล้ว โดยศาลไม่จำต้องแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบอีกปรากฏว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยดังกล่าว ทนายจำเลยได้ขอเลื่อนคดีศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้เลื่อนคดีไปครั้งหนึ่งในวันที่ 30 ธันวาคม 2530 โดยศาลชั้นต้นกำชับจำเลยให้เตรียมพยานมาพร้อมเพื่อให้สืบทั้งหมดในวันนัด หากพยานฝ่ายใดไม่มาศาลจะถือว่าฝ่ายนั้นไม่ติดใจสืบพยาน ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2530 เมื่อถึงวันนัดผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทนายโจทก์และทนายจำเลยมาศาลส่วนจำเลยไม่มาทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าจำเลยที่ 1 ติดธุระจำเป็นที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และจำเลยมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 วรรคแรก ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวส่อแสดงว่าจำเลยเพิกเฉยไม่สนใจในการดำเนินคดีของตนเป็นการประวิงคดี ดังนี้ ศาลชอบที่จะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเสียได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share