คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4070/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญากู้มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าจะนำดอกเบี้ยมาชำระให้ท่านตามกำหนดระยะเวลา 1 เดือนต่อครั้ง และจะนำต้นเงินมาชำระให้ภายในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2515 ถ้าข้าพเจ้าไม่นำดอกเบี้ยและต้นเงินมาชำระให้ตามกำหนดด้วยเหตุใดๆ ก็ดีข้าพเจ้ายอมให้ท่านฟ้องร้องเรียกเอาต้นเงินและดอกเบี้ยจากข้าพเจ้าได้ตามกฎหมาย”ตีความได้ว่าสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินต้นคืนจะเกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ผิดนัดในการนำเงินต้นมาชำระคืนด้วยเพราะข้อความในสัญญาระบุว่าจะต้องผิดนัดทั้งในการนำดอกเบี้ยและเงินต้นมาชำระให้ตามกำหนด สิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในการเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยจึงจะเกิดขึ้นเหตุนี้อายุความฟ้องร้องเรียกเงินต้นของโจทก์จึงเริ่มนับแต่วันที่22 เมษายน 2515 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 เมษายน 2525คดีจึงไม่ขาดอายุความ สัญญากู้มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จึงต้องบังคับตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คือคิดอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติและสัญญากู้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ในเมื่อเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 4 ครั้ง อัตราดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ครั้งที่ 4 ถึงกำหนดชำระหนี้แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 (เฉพาะส่วนของผู้ค้ำประกัน)ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่าทำสัญญากู้ยืมตามฟ้องจริง แต่มิได้ค้างเงินต้นและดอกเบี้ย คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ครั้งที่ 2, 3 และ 4 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดตามจำนวนเงินที่ค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายในชั้นนี้ว่า สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 ขาดอายุความหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ยกประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ สำหรับปัญหาข้อแรกได้พิเคราะห์สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4 แล้วมีข้อความว่า “ข้าพเจ้าจะนำดอกเบี้ยมาชำระให้ท่านตามกำหนดระยะเวลา 1 เดือนต่อครั้งและจะนำต้นเงินมาชำระให้ภายในวันที่ 21เดือนเมษายน พ.ศ. 2515 ถ้าข้าพเจ้าไม่นำดอกเบี้ยและต้นเงินมาชำระให้ตามกำหนดด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้ายอมให้ท่านฟ้องร้องเรียกเอาต้นเงินและดอกเบี้ยจากข้าพเจ้าได้ตามกฎหมาย” เห็นว่า ตามข้อความดังกล่าวสิทธิฟ้องร้องของโจทก์โดยเฉพาะในการฟ้องร้องเรียกเงินต้นคืนจะต้องปรากฏว่าจำเลยผิดนัดในการนำต้นเงินมาชำระคืนด้วย เพราะข้อความในสัญญาระบุว่าจะต้องผิดนัดทั้งในการนำดอกเบี้ยและเงินต้นมาชำระให้ตามกำหนดสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ในการเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยจึงจะเกิดขึ้น เหตุนี้อายุความฟ้องร้องเรียกเงินต้นคืนของโจทก์จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 22 เมษายน 2515 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 20 เมษายน 2525 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ปรากฏว่าตามสัญญากู้พิพาททั้งสี่ฉบับไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งระบุว่า “ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและดอกเบี้ยนั้นมิได้กำหนดอัตราไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันใดอันหนึ่งชัดแจ้งไซร้ ท่านให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” โดยเหตุนี้การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติและสัญญากู้ดังกล่าวข้างต้น เหตุนี้โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ในเมื่อเห็นสมควรตามบทบัญญัติ มาตรา 142(5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่เรื่องอัตราดอกเบี้ยคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share