แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 มีความเกี่ยวพันเป็นอาเขย ของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครอง การที่จำเลยที่ 1 ยอมเปลี่ยนเป็นคนขับ รถจักรยานยนต์แทนจำเลยที่ 2 ก็เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จะได้ใช้อาวุธปืนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อจำเป็นจะต้องใช้ และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานตำรวจกำลังติดตามตรวจค้นจำเลยทั้งสองดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงจ่าสิบตำรวจ ม. ผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด กับจำเลยที่ 2 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 138, 140, 297, 288, 289, 371 และริบหัวกระสุนปืนลูกซองของกลางกับให้คืนรถจักรยานยนต์ ซองอาวุธปืนหนังสีดำ อาวุธปืนพกสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .38 ปลอกกระสุนปืนขนาด .38 และเสื้อยืดสีดำของกลางให้แก่เจ้าของด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคแรก, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก วรรคสาม, 289(2), 80, 371, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืน ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าผู้เสียหาย ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2)ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต โดยข้อจำกัดและยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต หัวกระสุนปืน ลูกซองริบ ของกลางนอกนั้นคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ทุกข้อหาและความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายได้พบจำเลยทั้งสองที่ถนนพระราม 2 ได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการจับกุม แต่จำเลยทั้งสองได้ขับรถย้อนมาทางถนนพระราม 2 ขาออกแล้วเลี้ยวเข้าซอยอนามัยงามเจริญ โจทก์มีร้อยตำรวจโทสุนทร สังข์เขียวพนักงานสอบสวนมาเบิกความว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายย่อมทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจกำลังติดตามเพื่อตรวจค้นจับกุม และตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็ระบุว่าจำเลยที่ 2ได้บอกให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าที่ไม่หยุดรถให้ตำรวจตรวจค้นเพราะมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครอง นอกจากนี้ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.7 ระบุว่า เมื่อขับรถจักรยานยนต์เข้ามาในซอยอนามัยงามเจริญแล้วได้เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์อีกด้วย จำเลยที่ 2 มีความเกี่ยวพันเป็นอาเขย ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยอมเปลี่ยนเป็นคนขับรถจักรยานยนต์แทนจำเลยที่ 2ก็เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 ที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จะได้ใช้อาวุธปืนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อจำเป็นจะต้องใช้และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าเจ้าพนักงานตำรวจกำลังติดตามตรวจค้นจำเลยทั้งสอง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงจ่าสิบตำรวจมานะผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสาม, 289(2) ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 ลงโทษตามมาตรา 289(2), 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิตกระทงหนึ่ง และจำเลยทั้งสองยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 873 อีกกระทงหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 100 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์