แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 คำสั่งศาลที่ให้ยกคำขอหรือยกเลิกคำสั่งคุ้มครองในเหตุฉุกเฉินนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ตามย่อมเป็นที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบที่ดินในสภาพที่โจทก์จะเข้าทำการก่อสร้างอาคารตามสัญญาได้ และยังทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกับจำเลยที่ ๓ ทำการปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินนั้นด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ปฏิบัติตามสัญญา หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งห้ามชั่วคราว โดยให้จำเลยงดการก่อสร้างลงบนที่พิพาท และขอให้ศาลไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์แล้วมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคาร และห้ามจำเลยทำการก่อสร้างต่อไปในที่ดินพิพาทบางส่วน
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราว โดยเฉพาะจำเลยที่ ๓ อ้างด้วยว่า คำร้องของโจทก์ไม่ใช่กรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานจำเลยแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์คำสั่งให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้เพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราวเสีย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำร้องโจทก์ที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๗ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอหรือยกเลิกคำสั่งคุ้มครองในเหตุฉุกเฉินแล้ว ไม่ว่าคำสั่งเช่นนี้จะเป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ก็ตาม คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์