คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เขาสัตว์ป่าของกลางที่จับได้จากจำเลย แม้จะเป็นเขาสัตว์ที่จำเลยนำไปติดกับรูปหัวสัตว์ซึ่งประดิษฐ์ด้วยไม้สักทำเป็นเครื่องประดับแล้วก็ตาม ก็ยังมีสภาพเป็นเขาสัตว์อยู่เช่นเดิมมิได้เปลี่ยนสภาพเป็นวัตถุอย่างอื่น จึงเป็นซากของสัตว์ป่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 228 ข้อ 1
จำเลยมีเขากวาง 3 คู่ เขากระทิง 1 คู่ เขาวัวแดง 1 คู่ อันเป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ห้ามมิให้ผู้ใดค้าหรือมีไว้ในครอบครอง กับมีเขาละมั่ง 3 คู่ เขาเลียงผา 1 คู่ อันเป็นซากของสัตว์ป่าสงวน ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามกฎหมายให้มีได้ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเขากวาง ๓ คู่ เขากระทิง ๑ คู่ เขาวัวแดง ๑ คู่ อันเป็นซากของสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่ห้ามมิให้ผู้ใดค้าหรือมีไว้ในครอบครองตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงฯ กับมีเขาละมั่ง ๓ คู่ เขาเลียงผา ๑ คู่ อันเป็นซากของสัตว์ป่าสงวน ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้นตามกฎหมายให้มีได้ ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจำเลยได้พร้อมเขาดั้งกล่าว และไม้สักที่จำเลยประดิษฐ์เป็นหัวสัตว์ป่านั้น ๆ ซึ่งทำติดอยู่กับเขาสัตว์เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๔,๑๖,๓๘,๔๐ ฯลฯ และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เขาสัตว์ป่าของกลางซึ่งจำเลยทำติดอยู่กับไม้สักที่ประดิษฐ์เป็นหัวสัตว์เหล่านั้น เป็นของใช้ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องประดับ พ้นสภาพจากการเป็นซากสัตว์ป่าแล้ว พิพากษายกฟ้อง คืนของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๓๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๒ เดือน ของกลางริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ซากของสัตว์ป่าตามบทนิยามในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับ ๒๒๘ ข้อ ๑ หมายความรวมถึง เขา หนัง ฯลฯ ของสัตว์ป่าด้วย ฉะนั้น เขาสัตว์ป่าของกลาง แม้จำเลยจะนำไปติดกับรูปหัวสัตว์ซึ่งประดิษฐ์ด้วยไม้สักทำเป็นเครื่องประดับแล้วก็ยังมีสภาพเป็นเขาสัตว์อยู่เช่นเดิม มิได้เปลี่ยนสภาพเป็นวัตถุอย่างอื่น จึงเป็นซากของสัตว์ป่าตามบทนิยามดังกล่าวอยู่นั่นเอง เมื่อจำเลยมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตและไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามกฎหมายให้มีได้ ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๔,๑๖,๓๘,๔๐ ฯลฯ โดยลงโทษตามมาตรา ๓๘ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ฯ ส่วนไม้สักที่จำเลยประดิษฐ์เป็นหัวสัตว์นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ริบ
พิพากษาแก้ ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ ๑ ปี ริบของกลางเฉพาะเขา นอกนั้นคืนจำเลย

Share