คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4068/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลย ทั้งสองให้ร่วมกันรับผิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 กระทำละเมิด เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยในฐานะนายจ้าง โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปครบถ้วนแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีย่อมไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า หากจำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์จะต้องตกเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพราะจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้หรือฟ้องแย้งเป็นประเด็นไว้เช่นนั้นการที่ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยอันเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นคู่สัญญากันโดยเฉพาะ จำเลยทั้งสองซึ่งต้องร่วมกันรับผิดฐาน ละเมิดหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคู่สัญญาอันจะทำให้มีสิทธิและหน้าที่หรือได้รับประโยชน์ตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกเป็นของจำเลยทั้งสองนั้น จึงเป็นการพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2537 เวลาประมาณ22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3ณ-9947 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2โดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานคร ขณะจอดรอสัญญาณไฟจราจรบริเวณสี่แยกกองทัพอากาศ ถนนวิภาวดี – รังสิต เป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานคร กระเด็นไปชนท้ายรถยนต์ที่จอดอยู่ด้านหน้าอีกทอดหนึ่งรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานคร พังเสียหายทั้งคันไม่อาจซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2537 ในลักษณะคืนทุนทรัพย์ประกันภัยเป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินถึงวันฟ้องจำนวน15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน315,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้อง ต้องไม่เกิน15,000 บาท ถ้าหากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน6อ-9047 กรุงเทพมหานคร ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายทั้งคันไม่อาจซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมได้ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2537 ในลักษณะคืนทุนประกันภัยเป็นเงิน 300,000 บาท และเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องร้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในตอนหนึ่งว่า”หากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานครตกเป็นของจำเลยทั้งสอง” นั้นเป็นการพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิด เพราะจำเลยที่ 1กระทำละเมิด เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยในฐานะนายจ้างโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปครบถ้วนแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองตามกฎหมายซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ชำระไปจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา กรณีย่อมไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า หากจำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์เลขหมายทะเบียน6อ-9047 กรุงเทพมหานคร จะต้องตกเป็นของจำเลยทั้งสองหรือไม่เพราะจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้หรือฟ้องแย้งเป็นประเด็นไว้เช่นนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่โจทก์นั้น เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3.5.4ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นคู่สัญญากันโดยเฉพาะ จำเลยทั้งสองซึ่งต้องร่วมกันรับผิดฐานละเมิดหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคู่สัญญาอันจะทำให้มีสิทธิและหน้าที่หรือได้รับประโยชน์ตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3.5.4 ด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน6อ-9047 กรุงเทพมหานคร ตกเป็นของจำเลยทั้งสองนั้นจึงเป็นการพิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตัดข้อความที่ว่า “ถ้าหากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6อ-9047 กรุงเทพมหานคร ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง” ออกจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share