คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปตามถนนแจ้งวัฒนะจากสี่แยกหลักสี่มุ่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ดเมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุออกจาก ช่องทางเดินรถไปบนไหล่ทางด้านซ้ายซึ่งเป็นทางสำหรับคนเดินเท้าและเสียหลักตกไปในคูน้ำข้างถนน โดยทับร่างของผู้ตายทั้งสองขณะเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายดังกล่าวตกไปในคูน้ำข้างถนนด้วยเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัย เป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว แม้โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายว่าผู้ตายทั้งสองเดินอย่างไร เดินจากไหนไปไหน เดินหันหน้าหรือหันหลังให้รถขณะที่ถูกเฉี่ยวชนก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสำนวนจะนำสืบในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถห้ามล้อได้ทัน เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนผู้ตายทั้งสองเหตุรถชนจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ถนนที่เกิดเหตุมีเกาะกลางถนน และถนนด้านซ้ายมีไหล่ทางมีรถยนต์ปิกอัพจอดบนไหล่ทาง ไหล่ทางดังกล่าวมีขนาดความกว้างซึ่งรถยนต์สามารถจอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อถนนที่เกิดเหตุมีไหล่ทางและจุดที่ผู้ตายทั้งสองเดินขณะถูกชนก็ไม่มีรถยนต์จอดและเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองกำลังเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายด้วยกันมิได้ปฏิบัติฝ่าฝืน พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 103 ที่บัญญัติเกี่ยวกับคนเดินเท้าว่า ทางใดที่มีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถให้คนเดินเท้าเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ถ้าทางนั้นไม่มีทางเท้าอยู่ข้างทางเดินรถให้เดินริมทางด้านขวาของตน ดังนั้นเหตุที่จำเลยที่ 1ขับรถชนผู้ตายทั้งสองจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียว ผู้ตายทั้งสองไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย บันทึกข้อความตามหนังสือของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลถึงพนักงานสอบสวนแนะนำถึงวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยชั้นสอบสวนให้คู่กรณีในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เจรจาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายกันโดยให้พิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบกับฐานะการเงินและความสามารถของผู้ต้องหาหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบในคดีนั้น ๆ เป็นราย ๆ ไปด้วยนั้น เป็นเพียงแนวทางให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติเพื่อช่วยผู้เสียหายไม่ต้องนำคดีไปฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อศาลเท่านั้น บันทึกข้อความดังกล่าวมิใช่หลักปฏิบัติที่ศาลต้องปฏิบัติตาม การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดจึงชอบแล้วไม่จำต้องพิจารณาถึงฐานะการเงินและความสามารถชำระของฝ่ายที่ทำละเมิดด้วย แม้ชั้นสอบสวนผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้เจรจากับจำเลยเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามที่พนักงานสอบสวนช่วยไกล่เกลี่ยและผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ยอมลดค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องลงเหลือ 3,000,000 บาท แต่จำเลยเสนอให้เงินช่วยเหลือเพียง70,000 บาท เมื่อการเจรจาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตกลงกันไม่ได้ จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เจรจากันย่อมสิ้นผลไปด้วย และไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมากกว่าจำนวนดังกล่าว ดังนั้น โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนซึ่งเห็นว่าควรจะได้ตามกฎหมายแม้ค่าสินไหมทดแทนที่ฟ้องจะมากกว่าจำนวนที่เจรจากัน ก็ไม่เห็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อศีลธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความเมื่อศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี เหตุที่โจทก์จำต้องใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนประกอบกับการดำเนินคดีของจำเลยแล้วใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เต็มตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ตามลำดับเรียกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 ตามลำดับ กับเรียกบริษัทร.ส.พ.ประกันภัย จำกัด ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในสำนวนแรกตามคำร้องของจำเลยที่ 3เป็นเป็นจำเลยที่ 6 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 6
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของนายรังสรรค์ ฉันท์ธนกุล โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายรังสรรค์โจทก์ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายรังสรรค์ โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีแทน โจทก์ที่ 5 เป็นมารดาของนายยอด วงษ์วานิชโจทก์ที่ 6 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายยอดโจทก์ที่ 7 ที่ 8และที่ 9 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายยอด โจทก์ที่ 5 และที่ 7 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 6 ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0037 นนทบุรี จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของรถพ่วงหมายเลขทะเบียน ล-0084 สระบุรีจำเลยที่ 2 และที่ 5 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 6เป็นผู้รับประกันกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0037 นนทบุรีตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามจำเลยที่ 2 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน70-0037 นนทบุรี ลากจูงรถพ่วงหมายเลขทะเบียน ล-0084 สระบุรีไปในทางการที่จ้างและตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 5โดยขับรถไปตามถนนแจ้งวัฒนะ จากสี่แยกหลักสี่มุ่งหน้าไปทางห้าแยกปากเกร็ด ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถที่จำเลยที่ 1 ขับมานั้นเฉี่ยวชนทับร่างของนายรังสรรค์และนายยอดซึ่งเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายตกไปในคูน้ำพร้อมกับรถที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองถึงแก่ความตายทันทีและทำให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าปลงศพให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 116,812 บาทและให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์แต่ละคนดังกล่าว โดยส่วนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 รวมเป็นเงินค่าขาดไร้อุปการะ 1,416,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1ถึง ที่ 4 ทั้งหมดเป็นเงิน 1,532,812 บาท ส่วนของโจทก์ที่ 5ถึงที่ 9 รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งหมด 4,738,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินค่าเสียหายรวมแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทั้งสองสำนวนให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองเดินอย่างไรไปในทิศทางใด และให้การต่อสู้คดีอีกหลายประการขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งเก้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4จำนวน 50,000 บาท และให้โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 จำนวน 50,000 บาทศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 47,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน464,312 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 167,500 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 275,500 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 264,000 บาท โจทก์ที่ 6จำนวน 590,000 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 20,000 บาทโจทก์ที่ 8 จำนวน 115,000 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 278,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ร่วมกันชำระเงินค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด และแก่โจทก์ที่ 2จำนวน 347,500 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา กับชำระเงินค่าปลงศพจำนวน 116,812บาทแก่โจทก์ที่ 2 และจำนวน 154,000 บาทแก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ที่ 1 เป็นมารดา โจทก์ที่ 2 เป็นภริยา โจทก์ที่ 3 และที่ 4เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายรังสรรค์ ฉันธธนกุล โจทก์ที่ 5เป็นมารดา โจทก์ที่ 6 เป็นภริยา โจทก์ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายยอด วงษ์วานิช ส่วนจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกลากจูงรถพ่วงของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนแจ้งวัฒนะจากสี่แยกหลักสี่มุ่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับได้เฉี่ยวชนทับร่างของนายรังสรรค์และนายยอด ซึ่งขณะนั้นกำลังเดินอยู่ริมถนนทางด้านซ้ายตกไปในคูน้ำข้างทางพร้อมกับรถคันดังกล่าวเป็นเหตุให้นายรังสรรคืและนายยอดถึงแก่ความตายทันที
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเคลือบคลุมหรือไม่ ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนต่างบรรยายว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถไปตามถนนแจ้งวัฒนะจากสี่แยกหลักสี่มุ่งหน้าไปห้าแยกปากเกร็ดเมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวออกจากช่องทางเดินรถไปบนไหล่ทางด้านซ้ายซึ่งเป็นทางสำหรับคนเดินเท้าและเสียหลักตกไปในคูน้ำข้างถนนโดยทับร่างของผู้ตายทั้งสองขณะเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายดังกล่าวตกไปในคูน้ำข้างถนนด้วย เห็นได้ว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วแม้โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายว่าผู้ตายทั้งสองเดินอย่างไร เดินจากไหนไปไหน เดินหันหน้าหรือหันหลังให้รถขณะที่ถูกเฉี่ยวชนก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองสำนวนจะนำสืบในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า เหตุที่จำเลยที่ 1ขับรถชนผู้ตายทั้งสองเพราะเหตุสุดวิสัยและผู้ตายทั้งสองมีส่วนประมาทอยู่ด้วยนั้นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 8มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงวินิจฉัยให้ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถไปด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถห้ามล้อได้ทันเหตุที่รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชนผู้ตายทั้งสองจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 มิใช่เกิดเพราะเหตุสุดวิสัยดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อสู้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อ้างว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายทั้งสองเพราะผู้ตายทั้งสองมีส่วนประมาทอยู่ด้วยนั้นได้ความว่า ถนนที่เกิดเหตุไม่มีทางเท้าแต่มีไหล่ทาง ขณะเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองเดินคู่กันทางด้านซ้าย คนหนึ่งเดินอยู่บริเวณไหล่ทางอีกคนหนึ่งเดินอยู่บนผิวจราจรขณะที่ผู้ตายทั้งสองถูกรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับชน ตรงจุดชนไม่มีรถจอด ถนนที่เกิดเหตุมีเกาะกลางถนนและถนนด้านซ้ายมีไหล่ทาง มีรถยนต์ปิกอัพจอดขนไหล่ทางไหล่ทางดังกล่าวมีขนาดความกว้างซึ่งรถยนต์สามารถจอดได้อย่างปลอดภัย เมื่อถนนที่เกิดเหตุมีไหล่ทางและจุดที่ผู้ตายทั้งสองเดินขณะถูกชนก็ไม่มีรถยนต์จอดเช่นนี้กรณีไม่มีเหตุที่ผู้ตายทั้งสองซึ่งเดินคู่กันไปคนหนึ่งเดินอยู่บนไหล่ทางแต่อีกคนหนึ่งต้องไปเดินบนผิวจราจร ดังที่นายสนิทพยานจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เบิกความข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองกำลังเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายด้วยกัน ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4อ้างว่า แม้ผู้ตายทั้งสองเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายของถนนที่เกิดเหตุ ก็มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 103 บัญญัติเกี่ยวกับคนเดินเท้าว่า ทางใดที่มีทางเท้าหรือไหล่ทางอยู่ข้างทางเดินรถ ให้คนเดินเท้าเดินบนทางเท้าหรือไหล่ทาง ถ้าทางนั้นไม่มีทางเท้าอยู่ข้างทางเดินรถให้เดินริมทางด้านขวาของตน เมื่อคดีฟังได้ว่าถนนที่เกิดเหตุมีไหล่ทางอยู่ด้านซ้ายข้างทางเดินรถ ผู้ตายทั้งสองเดินอยู่บนไหล่ทางด้านซ้ายดังกล่าวจึงมิได้ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใดดังนั้นเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนผู้ตายทั้งสองจึงเกิดความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงฝ่ายเดียวผู้ตายทั้งสองไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาเป็นข้อที่สามว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระให้โจทก์ทั้งเก้าสูงเกินไป โดยมิได้พิจารณาถึงฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อให้สังคมส่วนรวมอยู่ได้ค่าเสียหายมากน้อยต้องขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดเหตุประกอบกับฐานะทางการเงินและความสามารถชำระของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นั้น เห็นว่า บันทึกข้อความดังกล่าวเป็นหนังสือของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลถึงพนักงานสอบสวนแนะนำถึงวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยชั้นสอบสวนให้คู่กรณีในคดีอาญา ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เจรจาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเสียหายกัน แม้การกำหนดค่าเสียหายจะมากน้อยเพียงใดให้พิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบกับฐานะการเงินและความสามารถของผู้ต้องหาหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบในคดีนั้น ๆ เป็นราย ๆ ไป ก็เป็นเพียงแนวทางให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติเพื่อช่วยผู้เสียหายไม่ต้องนำคดีไปฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนต่อศาลเท่านั้น บันทึกข้อความดังกล่าวมิใช่หลักปฏิบัติที่ศาลต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2กำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดจึงชอบแล้ว ไม่จำต้องพิจารณาถึงฐานะการเงินและความสามารถชำระของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 ทำบันทึกข้อตกลงเรื่องค่าสินไหมทดแทนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปากเกร็ด ลงวันที่ 18 กันยายน 2535 ยอมลดค่าสินไหมทดแทนลงเหลือจำนวน 3,000,000 บาท แต่โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 กลับนำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 4,738,000 บาท เป็นการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า แม้ชั้นสอบสวนผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 ได้เจรจากับจำเลยที่ 3เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามที่พนักงานสอบสวนช่วยไกล่เกลี่ยและผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 ยอมลดค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องลงเหลือ 3,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 เสนอให้เงินช่วยเหลือเพียง 70,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้เมื่อการเจรจาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตกลงกันไม่ได้ จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เจรจากันย่อมสิ้นผลไปด้วย และไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9ในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมากกว่าจำนวนดังกล่าว ดังนั้นโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 มีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนซึ่งเห็นว่าควรจะได้ตามกฎหมาย แม้ค่าสินไหมทดแทนที่ฟ้องจะมากกว่าจำนวนที่เจรจากัน ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อศีลธรรมแต่อย่างใดส่วนความรับผิดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีเหตุที่โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 จำต้องใช้สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนประกอบกับการดำเนินคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว เห็นได้ว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9 ตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงชอบและถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share