แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ดังนั้น บันทึกการจับกุมของจำเลยทั้งสาม จึงไม่อาจรับฟังได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83, 91, 92, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืน เศษชิ้นส่วนหัวกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน และหมวกนิรภัยของกลาง เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ศาลรอการลงโทษไว้เข้ากับโทษคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้ว และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษจริงตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสมลักษณ์ภริยาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกอนุญาตเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่อาจเพิ่มโทษได้ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูกมาตรา 52 (1)) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 4 เดือน รวมทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)) ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 86 ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน บวกโทษจำคุก 10 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2903/2542 ของศาลชั้นต้น รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 14 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ หัวกระสุนและเศษชิ้นส่วนหัวกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายผู้ยิงผู้ตายในขณะเกิดเหตุ และแม้โจทก์และโจทก์ร่วมได้นำพยานบุคคลมาเบิกความรวม 30 ปาก แต่พยานดังกล่าวล้วนเป็นพยานแวดล้อมกรณีทั้งสิ้น นอกจากนี้ เมื่อมีการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาดังกล่าวมาแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ดังนั้น บันทึกการจับกุมไม่อาจรับฟังได้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเมื่อจำเลยทั้งสามนำสืบต่อสู้ว่าในชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามมิได้รับแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ดังกล่าวมาแล้ว ทั้งถูกทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพในชั้นสอบสวน เท่ากับปฏิเสธว่าคำรับสารภาพดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนพยานบุคคลปากอื่น ๆ ของโจทก์และโจทก์ร่วมก็ล้วนแล้วแต่เป็นพยานที่เบิกความถึงข้อเท็จจริงที่นอกเหนือไปจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ โดยเฉพาะโจทก์ร่วม นายวัชระ นายนคร นายเกียรติสุทธิ์ และนายอาคม เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า มีการพูดถึงสาเหตุที่ผู้ตายถูกยิงว่าน่าจะมาจากการแข่งขันกันในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสกลนคร ซึ่งกลุ่มของผู้ตายแข่งขันกับกลุ่มของพันเอกแฉล้ม และมีการทะเลาะกับพันเอกแฉล้ม อันเป็นการแตกต่างกับบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีพิรุธและขัดแย้งกันเอง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.