คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4053/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ต้องพิจารณาว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และสาเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างเอง หรือเหตุอื่นที่มิใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่หยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้องที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามพนักงานจำเลยชุมนุมกันภายในบริษัท และห้ามพนักงานหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งโจทก์ทั้งเจ็ดฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงาน ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ดที่เพียงพอแก่การเลิกจ้างได้ ส่วนการที่จำเลยไม่เลิกจ้างหรือลงโทษพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องกับโจทก์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นดุลพินิจในการบริหารจัดการของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
กรณีที่ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตามความประสงค์ของลูกจ้างแล้วหรือไม่ ก็ต้องด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) แล้ว
โจทก์ทั้งเจ็ดชุมนุมกันที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องตามกฎหมายและไม่ได้เข้าทำงานในวันที่ 14 วันที่ 15 และวันที่ 17 มิถุนายน 2543 การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยมิให้ดำเนินไปได้ตามปกติทำให้จำเลยขาดรายได้ จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายส่วนการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อวินัย 1.4(1)(2) แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรงแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับในข้อนี้เป็นกรณีไม่ร้ายแรงซึ่งกรณีจะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดชุมนุมกันภายในบริษัทจำเลยและหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 134 จึงเป็นกรณีร้ายแรง

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 7

โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องมีใจความว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเคยเป็นลูกจ้างของจำเลย มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานทั่วไป วันเข้าทำงานระยะเวลาการทำงานและอัตราค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์ทั้งเจ็ดปรากฏรายละเอียดตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน เมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2543 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยที่โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีความผิดอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเท่าเดิมโดยนับอายุงานต่อจากอายุงานเดิม

จำเลยทั้งเจ็ดสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 โจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นได้ร่วมกันหยุดงานหรือละทิ้งหน้าที่มาชุมนุมกัน ณ ที่ทำการของบริษัทจำเลย เรียกร้องให้จำเลยเลิกจ้างนายจิระพงศ์ รุจิราวรรณ ผู้จัดการในประเทศไทยของจำเลย และให้แต่งตั้งนายรัฐพล ทีปกะ ดำรงตำแหน่งแทน การหยุดงานชุมนุมของโจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นในครั้งนี้มิได้ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ แต่อย่างใด วันที่ 15 มิถุนายน 2543 คณะกรรมการจำเลยได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นกลับเข้าทำงานตามปกติ โดยปิดประกาศไว้ ณที่ทำการของบริษัทจำเลย แต่โจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นไม่ยอมกลับเข้าทำงาน โจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นได้หยุดงานต่อเนื่องจนถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2543 จำเลยได้มีหนังสือขอให้โจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นกลับเข้าทำงานอีก มิฉะนั้นจะเลิกจ้าง แต่โจทก์ทั้งเจ็ดกับพวกไม่กลับเข้าทำงาน ดังนั้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2543 จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยเหตุที่โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงและขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งเจ็ด และโจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิขอกลับเข้าทำงานกับจำเลยตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องนอกจากนี้ในการหยุดงานของโจทก์ทั้งเจ็ดทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องขาดรายได้จากการที่ลูกค้ามาใช้บริการ จำเลยขอคิดค่าเสียหายในอัตราเฉลี่ยของรายได้ประจำปีซึ่งเมื่อคำนวณแล้วโจทก์ทั้งเจ็ดทำให้จำเลยขาดรายได้จำนวน 13,000 บาท 13,000บาท 15,000 บาท 10,000 บาท 13,000 บาท 95,000 บาท และ 19,000 บาทตามลำดับ ขอให้โจทก์ทั้งเจ็ดจ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลย

โจทก์ทั้งเจ็ดให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน และฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าอะไรเสียหายบ้าง โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ความเสียหายหากจะมีก็ไม่เกิน 500 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง

วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งเจ็ดแถลงสละคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยรับโจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเท่าเดิมโดยนับอายุงานต่อจากอายุงานเดิม และสละคำให้การแก้ฟ้องแย้งในประเด็นที่ว่าฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งเจ็ดและพนักงานอื่นได้ร่วมชุมนุมกันที่บริเวณหน้าบริษัทจำเลยเรียกร้องให้นายจิระพงศ์ รุจิราวรรณ พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการ และให้นายรัฐพล ทีปกะ ดำรงตำแหน่งแทน โดยโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้เข้าทำงานในวันที่ 14 วันที่ 15 และวันที่ 17 มิถุนายน 2543 แต่ได้เข้าทำงานวันที่ 16 มิถุนายน2543 ในระหว่างที่โจทก์ทั้งเจ็ดและพนักงานอื่นชุมนุมกันจำเลยโดยนายโจนัล ลี ผู้ควบคุมและจัดการของจำเลยในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้โทรสารลงวันที่ 15 มิถุนายน2543 ขอให้พนักงานกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ทั้งเจ็ดและพนักงานอื่นยังคงชุมนุมกันต่อไปและต่อมาในวันที่ 17 มิถุนายน 2543 นายจิระพงศ์ได้ทำหนังสือแจ้งให้พนักงานกลับเข้าทำงานอีกฉบับหนึ่ง แต่โจทก์ทั้งเจ็ดไม่กลับไปทำงานตามปกติ ส่วนค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมิได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน แต่การที่โจทก์ทั้งเจ็ดและพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมกันบริเวณหน้าบริษัทจำเลยไม่เข้าทำงานตามปกติดังกล่าว โดยไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามกฎหมาย และการเรียกร้องให้นายจิระพงศ์พ้นจากตำแหน่งผู้จัดการและตั้งบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งอำนาจบริหารเป็นอำนาจของจำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิหยุดงานเพื่อเรียกร้องในข้อดังกล่าว การหยุดงานของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงเป็นการหยุดงานโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในข้อวินัย 1.4(1)(2) ที่ห้ามพนักงานชุมนุมกันภายในบริเวณบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามพนักงานหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อจำเลยมีโทรสารลงวันที่ 15 มิถุนายน 2543 และหนังสือลงวันที่ 17 มิถุนายน 2543 แจ้งให้โจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงาน การที่โจทก์ทั้งเจ็ดไม่กลับเข้าทำงาน จึงเป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ประกอบกับโจทก์ทั้งเจ็ดมีหน้าที่รับซ่อมรองเท้าและทำกุญแจประจำร้านสาขาของจำเลยตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ การที่โจทก์ทั้งเจ็ดไม่เข้าทำงานตามร้านสาขาที่ตนประจำโจทก์ย่อมทราบอยู่ดีแล้วว่าจำเลยได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้ การกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ดถือเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตร 119(2)(4) พิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง

โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกับพนักงานอื่นอีกประมาณ 60 คน ร่วมกันชุมนุมเรียกร้องที่หน้าบริษัทจำเลย แต่จำเลยเลิกจ้างเฉพาะโจทก์ทั้งเจ็ด ส่วนพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องด้วยจำเลยมิได้เลิกจ้างหรือลงโทษสถานใด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยเลือกปฏิบัติ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การพิจารณาเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ต้องพิจารณาว่ามีสาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่และสาเหตุดังกล่าวมีเหตุเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างเอง หรือเหตุอื่นที่มิใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเพราะเหตุที่โจทก์ทั้งเจ็ดหยุดงานเพื่อชุมนุมเรียกร้องที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ห้ามพนักงานจำเลยชุมนุมกันภายในบริษัท และห้ามพนักงานหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งโจทก์ทั้งเจ็ดฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ทั้งเจ็ดกลับเข้าทำงาน ซึ่งเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ดที่เพียงพอแก่การเลิกจ้างได้ ส่วนการที่จำเลยไม่เลิกจ้างหรือลงโทษพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมเรียกร้องกับโจทก์ทั้งเจ็ดนั้น เป็นดุลพินิจในการบริหารจัดการของจำเลย ทั้งมิใช่สาเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดที่ศาลจะต้องนำมาประกอบการพิจารณากรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยมิได้ดำเนินการอย่างใดกับพนักงานอื่นที่ร่วมชุมนุมเรียกร้อง จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า การกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดโดยเพียงแต่คาดคะเนเอาว่าการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดจะทำให้จำเลยเสียหายเท่านั้น กรณีจะเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) นายจ้างจะต้องได้รับความเสียหายจริง ๆ และกรณีโจทก์ทั้งเจ็ดฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อวินัย1.4(1)(2) นั้น เมื่อข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคบธรรมดาที่ไม่ร้ายแรง เห็นว่า กรณีจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้น เมื่อลูกจ้างได้กระทำการอันเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตามความประสงค์ของลูกจ้างแล้วหรือไม่ ก็ต้องด้วยมาตรา 119(2) แล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมาชุมนุมกันที่หน้าบริษัทจำเลยโดยไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องตามกฎหมาย และไม่ได้เข้าทำงานในวันที่ 14 วันที่ 15 และวันที่ 17 มิถุนายน 2543การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยมิให้ดำเนินไปได้ตามปกติ ย่อมทำให้จำเลยขาดรายได้ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าจำเลยย่อมได้รับความเสียหายจึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ส่วนการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในข้อวินัย 1.4(1)(2) แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรงแต่ก็ไม่ได้ระบุว่าการฝ่าฝืนข้อบังคับในข้อนี้เป็นกรณีไม่ร้ายแรง ซึ่งกรณีจะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ต้องพิจารณาจากการกระทำของโจทก์ทั้งเจ็ด การที่โจทก์ทั้งเจ็ดชุมนุมกันภายในบริษัทจำเลยและหยุดงานประท้วงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 134 จึงเป็นกรณีร้ายแรง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share