แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลพิจารณาคำฟ้องและคำให้การจำเลยประกอบเอกสารที่โจทก์นำสืบแล้ว เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้สืบพยานจำเลย ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งงดสืบพยานจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและทำสัญญารับชำระหนี้ (สัญญาโอนขายลดเช็ค) กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับชำระหนี้ (สัญญาโอนขายลดเช็ค) กับโจทก์ด้วย แต่ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,531,380.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินต้น 4,375,073.89 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 1,045,180.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 967,300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันตามฟ้องเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 แต่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท ในอีกบัญชีหนึ่งซึ่งปิดแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ค้ำประกันในวันที่ 24 สิงหาคม 2524จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด โจทก์ฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 1พอชำระหนี้แล้ว ไม่จำต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้โจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 3,407,773.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่คำนวณถึงวันฟ้องดอกเบี้ยต้องไม่เกินจำนวน 78,425.48 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (สัญญาโอนขายลดเช็ค) จำนวน 1,045,180.86 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 967,300 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้กลับคำสั่งของศาลอุทธรณ์ และขอให้สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาโอนขายลดเช็คแก่โจทก์ และขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันตามฟ้องเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท ในอีกบัญชีหนึ่งซึ่งปิดแล้วโดยได้ค้ำประกันในวันที่ 24 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด โจทก์ฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 1 พอชำระหนี้แล้วไม่จำต้องฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ในประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ไม่จำเป็นต้องสืบพยานจำเลยที่ 2 เพราะศาลวินิจฉัยได้เอง ส่วนประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญารับชำระหนี้(สัญญาโอนขายลดเช็ค) จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 24 สิงหาคม 2524 โดยมิได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ค้ำประกันสัญญารับชำระหนี้ (สัญญาโอนขายลดเช็ค) แต่อย่างใด กลับไปให้การในเรื่องบัญชีกระแสรายวัน ซึ่งมิใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดและปรากฏตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.11 ข้อ 1 ตอนท้ายว่า จำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ภายในวงเงิน 1,000,000 บาท ไม่ว่าหนี้เครดิตสินเชื่อหรือความรับผิดชอบนั้นจะมีอยู่แล้วในเวลาทำสัญญาหรือต่อไปในภายหน้า จนกว่าธนาคารโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงซึ่งเห็นได้ว่าย่อมรวมถึงหนี้ตามสัญญารับชำระหนี้ (สัญญาโอนขายลดเช็ค) ด้วย ฉะนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะให้จำเลยที่ 2 สืบพยานว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2527 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี เพราะไม่อาจจะทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดตามฟ้องไปได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้ต่อไปว่าโจทก์ฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 1 พอชำระหนี้แล้วไม่จำต้องฟ้องจำเลยที่ 2 นั้นก็ปรากฏจากสัญญาค้ำประกันเอกสาร จ.11 ข้อ 2 และ 4 ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 สละสิทธิที่จะขอให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้เช่นเดียวกัน สรุปแล้วคดีไม่มีประโยชน์ที่จะให้สืบพยานจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน