คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายจะรับรองให้ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้ต่อเมื่อผู้รับจำนองได้มีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้เสียก่อนและลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ฉะนั้นเมื่อโจทก์จะแสวงหาสิทธิ”บังคับจำนอง”โจทก์ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน
การฟ้องคดีต่อศาลเป็นอำนาจฟ้องตามกฎหมาย และปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้จำนอง หากจำเลยไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็ให้ทรัพย์จำนองหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์
จำเลยสู้ว่า ได้ชำระหนี้สินรายนี้หมดสิ้นแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยไถ่จำนอง ถ้าไม่ไถ่ก็ให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดใช้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗๒๘ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การบังคับจำนองนั้นโจทก์จะต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร โดยกำหนดเวลาให้ในคำบอกกล่าวนั้น และถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกกล่าว โจทก์จึงจะมีสิทธิบังคับจำนองได้ตามกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘
การฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาด ฯลฯ เป็นอำนาจฟ้องตามกฎหมายสารบัญญัติ และปัญหาเกี่ยวด้วยอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จึงเป็นการชอบ
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share