คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเป็นคนสัญชาติญวนไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่งเลย แล้วไปแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมทะเบียน จดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านอีกหลังหนึ่ง ว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย ย้ายมาจากบ้านที่จำเลยไม่เคยมีชื่ออยู่นั้นการกระทำของจำเลย ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบังอาจแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนเขตดุสิตว่า จำเลยมีสัญชาติไทย ขอทำบัตรประชาชนคนไทยและนายทะเบียนเขตดุสิต ได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์ สำหรับใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวบุคคลและสัญชาติ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายทะเบียนเขตดุสิตนั้น เมื่อปรากฏว่าบัตรประจำตัวประชาชน ที่เจ้าพนักงานออกให้นั้น ไม่มีการจดข้อความเท็จที่ว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ลงไว้กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 จำเลยคงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เท่านั้น
การที่จำเลยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพ หนีจากเขตควบคุมให้การปฏิเสธพร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูนั้นเป็นการปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหาแม้ข้อความ ที่จำเลยให้การนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้ หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงาน จดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นคนญวนอพยพ กระทำผิดกฎหมายหลายกรรม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗, ๒๖๘, ๙๑ และริบบัตรประจำตัวประชาชนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษตามฟ้องข้อ (ก) จำคุก ๖ เดือน ลงโทษตามฟ้องข้อ (ข) (ค) จำคุก ๖ เดือนริบบัตรประจำตัวประชาชนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติญวน ชื่อนางทวา ด่าวทิเกิดที่ประเทศอินโดจีน เข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ มาอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๐ จำเลยยื่นคำขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวญวนอพยพจากจังหวัดหนองคายไปอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ต่อมาวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ จำเลยแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุดรธานีว่าจำเลยชื่อนางพรณี มนชัยภูมิ ได้ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเลขที่ ๒๕/๓๐ ถนนศรีชมชื่นตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยย้ายมาจากบ้านเลขที่ ๙/๑๙ ถนนข้างอำเภอ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นความเท็จเพราะไม่ปรากฏว่าเคยมีคนชื่อพรณี มนชัยภูมิ อยู่ในบ้านเลขที่ ๙/๑๙ ดังกล่าวเลยปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นายอุดมได้แจ้งย้ายจำเลยเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครต่อมาวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ จำเลยได้ยื่นคำขอมีหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานเขตดุสิตโดยอ้างว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทย เจ้าพนักงานได้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยในนามของนางพรณี มนชัยภูมิ ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.๕ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๔ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวจำเลยในข้อหาญวนอพยพหลบหนีจากเขตควบคุมจำเลยให้การปฏิเสธโดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหมาย ล.๕ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูเพื่อแสดงว่าจำเลยไม่ใช่คนญวนแล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามฟ้องข้อ (ก) การที่จำเลยเป็นคนสัญชาติญวนไม่เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ ๙/๑๙ ถนนข้างอำเภอตำบลหมากแข้งอำเภอเมืองอุดรธานี แล้วจำเลยมาแจ้งให้เจ้าพนักงานเทศบาลเมืองอุดรธานีผู้มีหน้าที่ในการควบคุมทะเบียนจดข้อความเท็จลงในทะเบียนบ้านเลขที่ ๒๕/๓๐ ถนนศรีชมชื่น ในเขตตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ว่าจำเลยเป็นคนชาติไทย ย้ายมาจากบ้านเลขที่ ๙/๑๙ ถนนข้างอำเภอ ตำบลหมากแข้งอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้อง ข้อ (ก) ดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗
ส่วนในฟ้องข้อ (ข) ที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยบังอาจแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนเขตดุสิตว่า จำเลยเป็นบุคคลมีสัญชาติไทย ขอให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยนั้น ปรากฏว่าบัตรประจำตัวประชาชนหมาย จ.๕ ที่เจ้าพนักงานออกให้นั้นหาได้มีการจดข้อความเท็จที่ว่า นางพรณี มนชัยภูมิมีสัญชาติไทย ลงไว้ในเอกสารนั้นด้วยไม่ ฉะนั้นกรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ได้ จำเลยคงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ เท่านั้น
ในฟ้องข้อ (ค) ที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยแจ้งความเท็จแก่จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ จึงประไพ ว่าจำเลยเป็นคนไทยนั้น คดีได้ความตามคำของจ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ จึงประไพ เองว่า จำเลยได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ จับกุมตัวส่งมายังกองกำกับการตำรวจภูธรอุดรธานี ในข้อหาว่าเป็นคนญวนอพยพหนีจากเขตควบคุม การที่จำเลยให้การปฏิเสธพร้อมกับแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้จ่าสิบตำรวจสมศักดิ์ดูจึงเป็นการให้การปฏิเสธในฐานะผู้ต้องหา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ ให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาจะให้การรับหรือปฏิเสธอย่างใดก็ได้ เมื่อกฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาไว้เช่นนี้ แม้ข้อความที่จำเลยให้การนั้นจะเป็นเท็จก็ย่อมจะเอาผิดแก่จำเลยฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ไม่ได้และจะเอาผิดแก่จำเลยฐานใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
พิพากษาแก้ ลงโทษจำเลยฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความลงในทะเบียนบ้านอันเป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ และลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานในการขอบัตรประจำตัวประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ริบของกลาง

Share