คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของ ส. ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ซึ่งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี นอกจากพนักงานสอบสวนจะทำบันทึกแจ้งข้อหาจำเลยเป็นคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับอันทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ ส. และจำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้แสดงว่า ส. และจำเลยตกลงกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ทำให้ ส. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของ ส. จะรับช่วงสิทธิของ ส. ได้เพียงเท่าที่ ส. ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น แม้ ส. จะทำบันทึกตกลงกับจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็ตาม แต่ ส. เป็นผู้ได้รับความเสียหายกรณีละเมิดถูกรถยนต์จำเลยเฉี่ยวชน ย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลยด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อ ส. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของ ส. ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไปเป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ที่โจทก์ทำไว้กับ ส. เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ รับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 25,240.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 จำเลยขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขนจ ชบ 582 โดยมีนายชาตรี บุญญเขตต์ นั่งซ้อนท้ายออกจากถนนซอยด้วยความประมาทตัดหน้ารถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บย 9834 ชลบุรี ที่นายสมพร โสภณ ขับมาตามถนนศรีราชา – ซากค้อ อย่างกะทันหันเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บย 9834 ชลบุรี ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 25,240.45 บาท คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิและมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7 พนักงานสอบสวนได้บันทึกแจ้งข้อหาจำเลยไปคดีอาญาในข้อหาขับรถประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเปรียบเทียบปรับ ซึ่งนอกจากจะทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน โดยนายสมพรผู้เอาประกันภัยและจำเลยลงชื่อทั้งสองฝ่าย ดังนี้ แสดงว่านายสมพรผู้เอาประกันภัยรถยนต์กระบะคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้ตกลงกับจำเลยว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน จึงเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งมีผลให้นายสมพรผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้อีก โจทก์ผู้รับประกันภัยจะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่เท่านั้น เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่ได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันภัยก็เป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทำไว้กับผู้เอาประกันภัย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านายสมพรผู้เอาประกันภัยทำบันทึกตกลงกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.7 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า นายสมพรผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เสียหายกรณีละเมิดถูกรถจักรยานยนต์จำเลยเฉี่ยวชนได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลยด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์และมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยนำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ สำหรับคำพิพากษาฎีกาที่ 4445/2538 ที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share