แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำข้อตกลงให้แก่โจทก์ว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยที่ 3 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีโดยสัญญาว่าหากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดจำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความไว้เฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นเงินตามมูลค่าบัตรภาษีจำนวน 405,096.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับบัตรภาษีจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงินจำนวน 294,314.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 699,411.19 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 699,411.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 405,096.99 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 มกราคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 405,096.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 โดยสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ทั้งที่จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องโดยไม่สุจริต เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและการที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 3 ผู้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้ต้องรับผิดจึงไม่ชอบและเป็นการใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำให้การว่า โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้ส่งสินค้าออกนอกราชาอาณาจักรได้ปฏิบัติตามระเบียบและวิธีการของโจทก์ โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในใบขนสินค้าขาออกทุกฉบับ จำเลยที่ 3 จึงเชื่อโดยสุจริตว่า มีการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรจริง จึงรับซื้อบัตรภาษีจากผู้มีชื่อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงออกบัตรภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้จึงไม่ชอบ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นควรวินิจฉัยประเด็นนี้เสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ทำข้อตกลงให้ไว้แก่โจทก์ว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีตามข้อตกลงในสัญญาที่จำเลยที่ 3 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีพิพาท จึงหาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีผูกพันจำเลยที่ 3 หรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีเป็นข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 จึงได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีโดยสัญญาว่า หากเกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดจำเลยที่ 3 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉลหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ จำเลยที่ 3 จึงมีความรับผิดตามสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 นำบัตรภาษีไปใช้แล้วต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จำนวน 405,096.99 บาท ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30…
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ