คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือให้ความยินยอมและรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 มีไปยังจำเลยที่ 1 มีข้อความว่า “เป็นที่เข้าใจกันว่าเอทีแอนด์ที (AT&T) เพียงแต่ตอบสนองตามการขอร้องของท่านที่ให้จ่ายเงินโดยตรงในนามของท่านให้แก่บริษัทอื่น และในการจ่ายเงินดังกล่าวนี้ เอทีแอนด์ทีจะไม่และต้องไม่เป็นการยอมรับหนี้สินเพิ่มต่อท่านหรือต่อผู้รับโอนสิทธิ นอกจากนี้การยอมให้มีการโอนสิทธิทางการเงิน ไม่หมายความด้วยประการใด ๆ ว่า เอทีแอนด์ทีสละสิทธิของตนซึ่งมีอยู่ในสัญญา” ข้อความดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่า จำเลยที่ 4 มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้อิดเอื้อน แต่เป็นการให้ความยินยอมภายในกรอบแห่งสิทธิของจำเลยที่ 4 อันพึงมีอยู่ในสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ดังนั้น หากจำเลยที่ 4 มีข้อต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้โอนได้ จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิที่จะนำยอดเงินจำนวน 13,522,469.67 บาท หักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างจำนวน 11,610,539.33 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 อันทำให้หนี้จำนวนดังกล่าวระงับไป โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 11,610,539.33 บาท แก่ตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ชำระเงิน จำนวน 15,688,181.68 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน จำนวน 11,230,173.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยต่อไปโดยให้จำเลยที่ 4 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,115,566.89 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 10,804,502.33 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 11,230,173.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 10,804,502.33 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์โดยไม่ต้องเรียกเอาจากลูกหนี้ก่อน กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 11,610,539.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในวงเงิน 11,230,173.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 10,804,502.33 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์โดยไม่ต้องเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 มีสิทธินำยอดเงินจำนวน 13,522,469.67 บาท หักกลบลบหนี้กับยอดหนี้จำนวน 11,610,539.33 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือให้ความยินยอมและรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 มีไปยังจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2537 มีข้อความว่า “เป็นที่เข้าใจกันว่าเอทีแอนด์ที (AT&T) เพียงแต่ตอบสนองตามการขอร้องของท่านที่ให้จ่ายเงินโดยตรงในนามของท่านให้แก่บริษัทอื่น และในการจ่ายเงินดังกล่าวนี้ เอทีแอนด์ทีจะไม่และต้องไม่เป็นการยอมรับหนี้สินเพิ่มต่อท่านหรือต่อผู้รับโอนสิทธิ นอกจากนี้การยอมให้มีการโอนสิทธิทางการเงิน ไม่หมายความด้วยประการใด ๆ ว่า เอทีแอนด์ทีสละสิทธิของตนซึ่งมีอยู่ในสัญญา” ข้อความดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่า จำเลยที่ 4 มิได้ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้อิดเอื้อน แต่เป็นการให้ความยินยอมภายในกรอบแห่งสิทธิของจำเลยที่ 4 อันพึงมีอยู่ในสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ดังนั้น หากจำเลยที่ 4 มีข้อต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้โอนได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์สัญญาบริการทางเทคนิค (LTH. 306) ซึ่งในข้อ 1 เรียกจำเลยที่ 4 ว่า “บริษัท” และในข้อ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ว่า “ผู้จัดหา” ปรากฏว่า ในสัญญาข้อ 9 เงินชดเชย มีข้อความพอสังเขปว่า “บริษัทจะจ่ายให้แก่ผู้จัดหาสำหรับค่าบริการทางเทคนิคตามอัตราที่ระบุไว้ในตารางราคา ก……..อัตราของผู้จัดหาจะรวมถึงค่าแรงงาน เครื่องมือ วัสดุ และเงินทดรองจ่ายอื่น ๆ ที่ต้องการเพื่อที่จะให้งานบริการทางเทคนิคเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ภายใต้สัญญานี้…….บริษัทจะผูกพันเพียงชำระเงินให้แก่พนักงานผู้จัดหาตามชั่วโมงการทำงานจริงเท่านั้น…..” และความในสัญญา ข้อ 21 การชดใช้ค่าเสียหาย “……..ผู้จัดหาตกลงทำการชดใช้ค่าเสียหายและปกป้องบริษัท…….มิให้ได้รับความเสียหายจากการสูญเสีย เสียหาย การเรียกร้อง คดีความ ความรับผิด และค่าใช้จ่าย………ที่เกิดขึ้นของหรือมีผลเนื่องมาจาก……..(3) ความล้มเหลวอันเป็นส่วนของผู้จัดหาที่จะทำให้พอใจกับข้อเรียกร้องสำหรับคนงาน เครื่องมือ วัสดุและข้อผูกพันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือโดยทางอ้อมในการปฏิบัติงาน……..” แล้ว เห็นว่า งานวางเครือข่ายสายโทรศัพท์ด้านธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 4 รับเหมาช่วงงานมาจากบริษัทเทเลคอม เอเซีย จำกัด เป็นงานโครงการใหญ่ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะทางตลอดทั้งผู้ปฏิบัติงานทั้งด้านวิชาการและด้านแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งเป็นงานด้านสาธารณูปโภคซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสังคมส่วนรวม จึงเป็นปกติวิสัยที่จำเลยที่ 4 ซึ่งรับเหมาช่วงงานมาจากบริษัทเทเลคอม เอเซีย จำกัด จะต้องพยายามกำหนดข้อสัญญาให้ครอบคลุมมิให้มีเหตุขัดข้องเกิดขึ้นอันจะส่งผลให้งานไม่สำเร็จตามสัญญา ข้อความที่ระบุในสัญญาข้อ 9 และข้อ 21 บ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 4 ที่จะป้องกันมิให้งานเสียหายเพราะจำเลยที่ 1 มีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับค่าแรงงานที่ต้องจ่ายให้แก่พนักงานของตนรวมอยู่ด้วย จึงกำหนดให้จำเลยที่ 4 มีสิทธิที่จะจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ แม้พนักงานดังกล่าวจะไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 4 หาใช่จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้นไม่ ยิ่งไปกว่านั้น การที่จำเลยที่ 4 ใช้สิทธิตามสัญญาจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 1 ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ ก็มีแต่ก่อให้เกิดผลดีที่งานจะได้ดำเนินต่อไปตามกรอบสัญญา ฉะนั้น จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิที่จะนำยอดเงินจำนวน 13,522,469.67 บาท หักกลบลบหนี้กับเงินค่าจ้างจำนวน 11,610,539.33 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 อันทำให้หนี้จำนวนดังกล่าวระงับไป โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ผู้โอนจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 11,610,539.33 บาท แก่ตน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงินดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4 เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share