แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีอาญา การขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วยป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาตามป.วิ.อ. มาตรา 223 ดังนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคแรก มิใช่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคแรก.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2532ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลฎีกามีคำสั่งว่าฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องเป็นเรื่องขอให้ขยายเวลาฎีกาซึ่งตามกฎหมายจะต้องขอเข้ามาก่อนพ้นกำหนดฎีกา แต่โจทก์ยื่นคำร้องเข้ามาภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาฎีกาแล้ว จึงกำหนดระยะเวลาให้ไม่ได้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นเรื่องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จะรับหรือไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 224 วรรคแรก โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาที่อาจยื่นฎีกาได้แล้วนั้น เป็นเรื่องการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาปัญหาจึงมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาและมีคำสั่งไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และไม่ว่าโจทก์จะยื่นฎีกามาด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นที่ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาไปถึงเนื้อหาแห่งคำฟ้องฎีกานั้นด้วยเพราะยังมิใช่ขั้นตอนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นในกรณีเช่นนี้ จึงมิใช่เป็นคำสั่งในเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จะรับหรือไม่รับฎีกาดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคแรกมิใช่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษายกอุทธรณ์เสียนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่ามีเหตุอันควรขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์หรือไม่ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ในปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษานั้นให้โจทก์ฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรก ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดไว้แล้ว หากโจทก์ประสงค์จะแก้ไขหรือเพิ่มเติมฎีกาของโจทก์นอกเหนือจากที่ฎีกาไว้เดิมโจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอภายในกำหนดระยะเวลาที่ให้ยื่นฎีกาจะมายื่นฎีกาใหม่หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ เมื่อโจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่โจทก์ซึ่งเท่ากับขอขยายระยะเวลาฎีกาภายหลังจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายสิ้นไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัยอย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกคำร้องของโจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้น.