คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป กระทำความผิดฐานก่อการร้ายโดยใช้กำลังประทุษร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งกระทำการตามหน้าที่ สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อก่อการร้าย กระทำการอื่นใดเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น ก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและความผิดที่จำเลยกับพวกสมคบกันเพื่อกระทำมีกำหนดโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และจำเลยกับพวกร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธและทรัพย์สินเพื่อก่อการร้าย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ลงโทษจำเลยกับพวกฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายในการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกัน อันถือเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 135/2, 209, 210, 288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 38, 55, 72, 72 ทวิ, 74, 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นกระสุนปืน ปุ๋ยยูเรียผสมน้ำมัน และเพาเวอร์เจล ของกลางที่ใช้หมดไปในการตรวจพิสูจน์ และบัตรประจำตัวประชาชน 2 ใบ โดยให้ริบเครื่องรับวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 38 วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 74, 78 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2), 209 วรรคแรก (เดิม), 210 วรรคสอง (เดิม), 289 (ที่ถูก มาตรา 289 (2)) ประกอบ มาตรา 80 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 23 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันสมคบกันเพื่อก่อการร้าย จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีและใช้วิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอบโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 3 ปี และฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตเพียงสถานเดียว ริบของกลาง โดยให้ริบเครื่องรับวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในราชการของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพล หรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/2 (2) ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ก่อนเกิดเหตุมีคณะบุคคลซึ่งใช้ชื่อว่า “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี” อันเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีการและมีความมุ่งหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดน ยึดอำนาจปกครองของรัฐในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลา อันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย แล้วจัดตั้งเป็นประเทศหรือรัฐใหม่ มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เรียกว่า “รัฐปัตตานีหรือปัตตานีดารุลสลาม” โดยมีการก่อการร้ายร่วมกันฝึกฝนการก่อการร้าย การใช้อาวุธปืน การก่อความไม่สงบในรูปแบบต่างๆ สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อใช้ก่อการร้าย กระทำการเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น ฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความกลัวในหมู่ประชาชน บีบบังคับให้รัฐบาลไทยแบ่งแยกดินแดนตามที่ต้องการ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ร้อยโทถนอมพงษ์ ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 1522 เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ขณะไปถึงบริเวณสะพานคู่ บ้านตะโลเว หมู่ที่ 9 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ถูกคนร้ายซุ่มโจมตีทำให้กำลังพลเสียชีวิต 1 คน หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกันระหว่างชุดของร้อยโทไพรัตน์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4716 ผู้เสียหาย กับชุดของร้อยโทถนอมพงษ์ เพื่อออกติดตามคนร้าย เมื่อชุดของผู้เสียหายเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุพบกลุ่มคนร้ายอยู่ที่เพิงพักจึงเกิดการยิงต่อสู้กัน จากนั้นคนร้ายหลบหนีไป หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตรวจยึดสิ่งของ 25 รายการ ไว้เป็นของกลาง อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดของกลางเป็นอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดตามกฎหมาย ส่วนวัตถุระเบิดเป็นชนิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ และอุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดของกลางสามารถประกอบรวมกันเป็นวัตถุระเบิดได้ วิทยุสื่อสารของกลางเป็นวิทยุคมนาคมตามกฎหมายที่สามารถใช้การได้ และเจ้าพนักงานไม่เคยออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดมาก่อน พนักงานสอบสวนตรวจสอบการได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพบว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อน พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอออกหมายจับจำเลยกับพวก ต่อมาจำเลยถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พนักงานสอบสวนจึงไปขอรับตัวจำเลยมาดำเนินคดีโดยแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นจับกุมเป็นคดีนี้ จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุมต่อหน้าทนายความ จำเลยยังคงให้การปฏิเสธ
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย และฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า พันตรีไพรัตน์ผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮ พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความเป็นลำดับขั้นตอนมีเหตุเชื่อมโยงกันตั้งแต่หลังจากที่พันโทถนอมพงษ์กับพวกถูกผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ซุ่มโจมตี ผู้เสียหายเรียกสายข่าวมาสอบถามทราบว่าคนร้ายเป็นกลุ่มของนายมะกะตาร์ พร้อมทั้งแจ้งตำแหน่งของฐานปฏิบัติการและวาดแผนที่ให้ จึงร่วมวางแผนกับชุดของพันโทถนอมพงษ์และออกเดินทางไปยังจุดที่รับแจ้งก็พบกับกลุ่มคนร้ายกับฐานปฏิบัติการตามที่รับแจ้ง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูเขาสูงเดินทางเข้าไปลำบากและอันตราย หากไม่ได้รับแจ้งจากสายข่าวจริงคงเป็นการยากที่จะไปพบฐานปฏิบัติการดังกล่าว ครั้นเมื่อพบฐานปฏิบัติการแล้วพยานทั้งสองไปซุ่มดูพบกลุ่มคนร้ายในลักษณะมีอาวุธครบมือไม่น้อยกว่า 5 คน พยานทั้งสองเบิกความยืนยันว่า กลุ่มคนร้ายที่พยานจำได้คือ จำเลย นายมะกะตาร์ นายแวสูไฮดี นายรุสลาม เนื่องจากจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะสิบเอกมะตอเฮเบิกความว่า ก่อนออกปฏิบัติการผู้เสียหายจะนำภาพถ่ายของคนร้ายซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะเข้าไปพิสูจน์ทราบมาให้ดูตามที่สายข่าวแจ้งก่อนทุกครั้ง วันเกิดเหตุสิบเอกมะตอเฮนำสำเนาภาพถ่ายของคนร้ายติดตัวไปด้วยแล้วนำออกมาดู และจำได้ว่าแต่ละคนเป็นใครบ้าง จากนั้นมีการซุ่มดูเหตุการณ์อยู่นานประมาณ 15 ถึง 20 นาที จนมั่นใจว่าคนร้ายกลุ่มดังกล่าวคือเป้าหมายที่ผู้เสียหายแจ้งมา ประกอบกับขณะนั้นเป็นเวลากลางวันมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มองเห็นหน้ากันได้ชัดเจนและคนร้ายกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ปิดบังใบหน้า ทั้งตามภาพถ่ายที่เกิดเหตุก็ปรากฏว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นป่าทึบมากนัก หลังจากนั้นพยานทั้งสองกับพวกเกิดการยิงปะทะกับกลุ่มของจำเลยและพวกประมาณ 10 นาที จำเลยกับพวกหลบหนีไปทางร่องน้ำด้านข้างขนำซึ่งมีลักษณะเป็นฐานปฏิบัติการ ผู้เสียหายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าควบคุมพื้นที่และประสานให้ชุดของพันโทถนอมพงษ์กับพวกช่วยควบคุมพื้นที่ โดยพันโทถนอมพงษ์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อกลุ่มคนร้ายหลบหนีไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจพื้นที่ได้พบบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยและบัตรประกันสุขภาพของจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโทโอฬาร พนักงานสอบสวนในเบื้องต้นว่า พยานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานไปตรวจที่เกิดเหตุ พบบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยอยู่ในขนำ โดยพยานทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุระบุในข้อ 12 ว่า ตรวจยึดบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยและนายอับดุลเลาะห์ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ชุดที่เข้าไปปะทะกับคนร้ายทราบว่ามีการนำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมาจากกระเป๋าแล้ววางไว้เพื่อถ่ายรูป โดยเจ้าหน้าที่ใส่ถุงมือเพื่อป้องกันการปนเปื้อนดีเอ็นเอพร้อมทั้งส่งไปตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอพร้อมกับของกลางอื่น ที่จำเลยเบิกความอ้างว่า บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยสูญหายไป จำเลยจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรปะแตแล้วไปทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่นั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีหลักฐานการแจ้งความมาแสดงในชั้นพิจารณา หากจำเลยมิได้ร่วมอยู่ในกลุ่มคนร้ายในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จะตรวจยึดมาเป็นของกลางได้อย่างไร และโจทก์ยังมีพันตำรวจโทกิตติซึ่งรับสำนวนการสอบสวนมาจากพันตำรวจโทโอฬารเป็นพยานเบิกความรับรองว่า พยานได้สอบปากคำผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮไว้ และมีรายละเอียดว่า ผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮยืนยันว่า กลุ่มคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮ คือ จำเลย นายแวสูไฮดี นายอับดุลเลาะห์ นายรุสลาม และนายสาฮารีดัง กับชี้ภาพจำเลยกับพวกไว้ จึงเชื่อว่าผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮจำหน้าจำเลยกับพวกได้จริง พยานโจทก์ดังกล่าวต่างเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ทั้งไม่เคยรู้จักจำเลยเป็นการส่วนตัวมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายจำเลยแต่ประการใด เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่รู้เห็นและทราบมาตามความสัตย์จริง อีกทั้งโจทก์มีร้อยเอกจิรายุทธ์ เจ้าหน้าที่ผู้ซักถามเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยให้ถ้อยคำว่า จำเลยเคยถูกเชิญตัวมาที่ศูนย์ซักถามครั้งหนึ่งแล้วมีการปล่อยตัวไป ต่อมาในปี 2551 นายแวสูไอดีมาชวนจำเลยเข้าไปร่วมกับกลุ่มขบวนการก่อการร้ายอีกครั้ง หลังจากที่จำเลยเข้าร่วมก็ไปพักอาศัยอยู่ที่บริเวณเขาอุเบ็ง ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ระหว่างนั้นได้มีการฝึกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีสมาชิกเข้าร่วมฝึกหลายคน และจำเลยให้ข้อมูลว่าซุกซ่อนอาวุธปืนลูกซองในสวนยางพาราในพื้นที่บ้านคลองตาหา หมู่ที่ 5 ตำบลบาโหย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เจ้าหน้าที่ศูนย์ซักถามกับหน่วยในพื้นที่และเจ้าพนักงานตำรวจไปพิสูจน์ทราบ พบอาวุธปืนลูกซองยาว 5 นัด หมายเลขปืน L 11393 พร้อมกระสุนปืนลูกซอง 15 นัด ในการซักถามไม่มีการบังคับหรือทำร้าย ซึ่งการที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินการหรือผู้ต้องสงสัยในฐานะพยานมิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ก่อนพนักงานสอบสวนเพราะขณะนั้นจำเลยยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับและถ้อยคำอื่นของจำเลยจึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำโดยผู้ดำเนินการ ก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ และเป็นการสอบปากคำจำเลยในเบื้องต้นเท่านั้น บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและถ้อยคำจำเลยรวมทั้งอาวุธปืนลูกซองยาวพร้อมกระสุนปืนของกลางที่ตรวจยึดได้ จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ทั้งการตรวจร่างกายจำเลย และการรายงานว่าร่างกายปกติตามใบสำคัญความเห็นแพทย์ หากจำเลยมิได้ให้ถ้อยคำดังกล่าวจริง ร้อยเอกจิรายุทธ์คงไม่สามารถบันทึกข้อความขึ้นมาเองได้เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จึงเชื่อว่าจำเลยให้ถ้อยคำด้วยความสมัครใจและร้อยเอกจิรายุทธ์ได้อ่านข้อความให้จำเลยฟังแล้ว ก่อนที่จำเลยจะลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว จึงหาเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกาไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทหญิงอลิษา ผู้ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เป็นพยานเบิกความรับรองว่า เกี่ยวกับคดีนี้ทางสถานีตำรวจภูธรปะแตได้ส่งเยื่อบุกระพุ้งแก้มของจำเลยมาให้พยานตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอว่า มีรูปแบบดีเอ็นเอแบบใด และเหมือนกับดีเอ็นเอในฐานข้อมูลของศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 หรือไม่ โดยมีการตรวจดีเอ็นเอจำนวน 16 ตำแหน่ง เมื่อตรวจเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอในฐานข้อมูลแล้ว พบว่าดีเอ็นเอของจำเลยเข้าได้กับปากขวดน้ำดื่มของกลางรายการที่ 3 ที่ส่งมาตรวจพิสูจน์ ซึ่งนำส่งโดยสถานีตำรวจภูธรกาบัง และยังตรงกับรายงานการตรวจพิสูจน์ของสถานีตำรวจภูธรปะแต ตรงกับก้นกรองบุหรี่ แปรงสีฟัน หมวกของกลาง ซึ่งของกลางดังกล่าวถูกยึดมาเป็นของกลางในคดีที่มีการก่อความไม่สงบในพื้นที่มาก่อน โดยร้อยตำรวจโทหญิงอลิษาเบิกความอธิบายว่า ดีเอ็นเอของบุคคลจะซ้ำกันได้มีด้วยกัน 2 กรณี คือ กรณีเป็นฝาแฝดแท้เกิดจากไข่ใบเดียวกัน กับอีก 1 กรณี คือ เหมือนกันโดยบังเอิญ ซึ่งการคำนวณดีเอ็นเอของจำเลยแล้ว พบว่ามีกรณีที่เป็นไปได้เพียง 1 ใน 1,000 ล้านล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรในโลกมีเพียง 7,000 ล้านคนเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีดีเอ็นเอของบุคคลอื่นเหมือนกับของจำเลย ทั้งการจัดเก็บและรับของกลาง จะมีการถ่ายรูปขณะรับของกลางว่าสมบูรณ์ถูกต้องครบถ้วนตามที่ส่งมาด้วย พยานโจทก์ปากนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญและตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอมาแล้วเป็นเวลาหลายปี จึงเชื่อว่าพยานเบิกความไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์ด้วยความเป็นจริง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ผลการจัดเก็บและการตรวจดีเอ็นเอขาดความน่าเชื่อถือนั้น จำเลยก็ไม่มีพยานอื่นใดมาสืบหักล้างผลการตรวจดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อรับฟังประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮพยานโจทก์ที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นหนึ่งในคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮ และหลังเกิดเหตุมีการตรวจยึดได้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด อุปกรณ์การประกอบวัตถุระเบิด วิทยุสื่อสารและของกลางอื่นอีกหลายรายการภายในฐานปฏิบัติการดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว เชื่อว่าจำเลยกับพวกร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮโดยประสงค์ต่อชีวิต แม้กระสุนปืนจะไม่ถูกผู้เสียหายและสิบเอกมะตอเฮ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสองฐานนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่น ๆ นั้นเป็นรายละเอียดปลีกย่อย ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องจำเลยกับพวกสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปกระทำความผิดฐานก่อการร้าย โดยใช้กำลังประทุษร้าย พยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งกระทำการตามหน้าที่ สะสมกำลังพลหรืออาวุธเพื่อก่อการร้าย กระทำการอื่นใดเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ กระทำการอื่นใดเพื่อก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลอื่น ก่อให้เกิดหรือน่าจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและความผิดที่จำเลยกับพวกสมคบกันเพื่อกระทำมีกำหนดโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และจำเลยกับพวกร่วมกันสะสมกำลังพล อาวุธและทรัพย์สินเพื่อการก่อการร้าย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้ลงโทษจำเลยกับพวกฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายในการกระทำคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดโดยมีเจตนาเดียวกัน อันถือเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมเป็นซ่องโจรและความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share