คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ล่ามแปลคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนโดยมิได้สาบานตัวเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 วรรคสอง มีผลทำให้ไม่อาจใช้คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนมารับฟังเป็นพยานหลักฐานใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้เท่านั้น ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยทั้งสามเป็นคนต่างด้าวประกอบกับเฮโรอีนซึ่งร่วมกันครอบครองมีไว้เพื่อจำหน่ายมีจำนวนมากถึง 4,343 กรัม นับว่าเป็นภัยที่ร้ายแรงต่อมนุษย์ชาติ สมควรลงโทษสถานหนักให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสาม ริบของกลาง จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ที่บริเวณชั้นล่างของโรงแรมรอยัลพลาซ่า และจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ที่ห้อง 927 ของโรงแรมดังกล่าวปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อน โจทก์มีจ่าสิบตำรวจศิริพงษ์ บุณสร้าง และนายดาบตำรวจละม่อม ยินดียมพยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากพันตำรวจโทจุมพล นิลวัฒนานนท์ ให้ไปจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองที่โรงแรมรอยัลพลาซ่า ห้อง 927 พยานทั้งสองและร้อยตำรวจเอกอุดม บริสุทธิ์พากันไปที่โรงแรมดังกล่าว พยานทั้งสองขึ้นไปที่ห้อง 927 ก่อนส่วนร้อยตำรวจเอกอุดมไปติดต่อกับผู้จัดการโรงแรมเพื่อขอตรวจค้น จ่าสิบตำรวจศิริพงษ์เคาะประตูห้อง 927 มีจำเลยที่ 1 แง้มประตูออกมาดู จ่าสิบตำรวจศิริพงษ์เห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือแท่งถ้อนสี่เหลี่ยมอยู่ด้านท้ายเตียงนอน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทิ้งของและวิ่งมาจะปิดประตู จ่าสิบตำรวจศิริพงษ์จึงใช้เท้าดันประตูไว้แล้วล้วงเข้าไปปลดโซ่ที่คล้องประตูออกและเปิดประตูเข้าไปควบคุมจำเลยทั้งสามไว้ แต่จำเลยที่ 1 ขัดขืนและชกจ่าสิบตำรวจศิริพงษ์ ซึ่งยืนขวางประตูไว้ แล้ววิ่งหลบหนีไป พอดีร้อยตำรวจเอกอุดม ขึ้นมาเห็นเหตุการณ์ จึงสั่งให้จ่าสิบตำรวจศิริพงษ์ติดตามจำเลยที่ 1 ไปและโจทก์มีร้อยตำรวจเอกอุดมเจ้าพนักงานผู้จับกุมจำเลยมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อพยานขึ้นไปถึงชั้น 9ก้อนถึงห้อง 927 ประมาณ 2 วา เห็นจำเลยที่ 1 ชกหน้าจ่าสิบตำรวจศิริพงษ์ตรงประตูห้อง 927 แล้ววิ่งหนีผ่านหน้าพยานไป พยานเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผลักนายดาบตำรวจละม่อมออกจากห้อง 927พยานจึงเข้าไปช่วยผลักจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เข้าไปอยู่ในห้องและสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งลง พยานเห็นเฮโรอีนของกลางกระจัดกระจายอยู่ที่พื้นห้องบริเวณปลายเตียงนอนจำนวน 14 แท่งน้ำหนักรวม 5,800 กรัม พยานกับนายดาบตำรวจละม่อมจึงเก็บเฮโรอีนของกลางแล้วนำตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงมายังชั้นล่างของโรงแรม เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความสอดคล้องกันในข้อสาระสำคัญต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 พบจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังถือแท่งเฮโรอีนอันเป็นก้อนอยู่บริเวณปลายเตียงนอน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการร่วมกันครอบครองเฮโรอีนของกลาง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าจ่าสิบตำรวจศิริพงษ์กับนายดาบตำรวจละม่อมเบิกความแตกต่างกันโดยจ่าสิบตำรวจศิริพงษ์เบิกความว่าขณะที่จำเลยที่ 1 แง้มประตูออกมาดู พยานเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังถือแทงก้อนสี่เหลี่ยมอยู่ที่ปลายเตียงนอน ส่วนนายดาบตำรวจละม่อมเบิกความว่าเมื่อเข้าไปในห้องแล้วเห็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กำลังห่อสิ่งของอยู่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พยานโจทก์ทั้งสองปากจะเบิกความแตกต่างกันดังกล่าว ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยมิใช่ข้อสาระสำคัญ อันจะทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามเสียน้ำหนักไปแต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าชั้นสอบสวนนายนวล สารสอน เป็นล่ามคำแปลคำให้การผู้ต้องหาโดยมิได้สาบานตัว การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้ชั้นสอบสวนนายนวลเป็นล่ามแปลคำให้การของจำเลยที่ 1โดยมิได้สาบานตัวอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสองก็ตาม มีผลทำให้ไม่อาจใช้คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนมารับฟังเป็นพยานหลักฐานใช้ยันจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาได้เท่านั้นหาทำให้การสอบสวนคดีนี้เสียไปไม่”
พิพากษายืน

Share