คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4026/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการขุดและดูดทรายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย โจทก์มีหน่วยงานบ่อดูดทรายที่ ต. ปลายนา อ. ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี ดังนั้น งานขุดและดูดทรายที่บ่อทรายรวมทั้งงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ การที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถบริการทำหน้าที่ส่งเอกสารและพัสดุประจำหน่วยงานดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ด้วย แม้การจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามกำหนดระยะเวลานั้นก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วและโจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างโดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงรับกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์โดยทดลองงานในตำแหน่งผู้ช่วยช่างเครื่องยนต์ จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม 2545 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทดลองงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบริการและเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2545 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทดลองงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบริการอีกมีระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 17 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2546 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2546 โจทก์ได้มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ให้เหตุผลว่า การปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่โจทก์ตั้งไว้จึงไม่อาจจ้างจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานทดลองงานต่อไปได้ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2546 และแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 รวมระยะเวลาการทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ 1 ปี 9 เดือน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สำหรับค่าชดเชยนั้นโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ตกลงจ้างจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งพนักงานขับรถบริการทำหน้าที่ส่งเอกสารและพัสดุประจำหน่วยงานซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรืออันเป็นลักษณะครั้งคราว โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตรงตามสัญญาจ้างของโจทก์อันมีระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการขุดและดูดทรายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จเพื่อจำหน่าย โจทก์มีหน่วยงานบ่อดูดทรายที่ตำบลปลายนา อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น งานการขุดและดูดทรายที่บ่อทรายดังกล่าวรวมทั้งงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ การที่โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถบริการทำหน้าที่ส่งเอกสารและพัสดุประจำหน่วยงานดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติงานตามปกติของธุรกิจหรือการค้าของโจทก์ด้วย ฉะนั้น แม้การจ้างงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามกำหนดระยะเวลานั้นก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็มิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 18,000 บาท คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอน อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2545 โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 2 ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบริการโดยให้ทดลองงานมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2545 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2546 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 โจทก์ได้มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่โจทก์ตั้งไว้ จึงไม่อาจจ้างจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานต่อไปได้ โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 16 กันยายน 2546 สัญญาจ้างทดลองงานดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างแน่นอนซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วและโจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยโจทก์ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 9,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ 6/2546 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2546 เฉพาะส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 9,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share