คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อแลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อรถยนต์ซึ่งถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยอ้างเหตุปฏิเสธว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่และเงินในบัญชีไม่พอจ่ายจำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1),(3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1), (3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 4 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เช็คพิพาทจำเลยสั่งจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าซื้อรถยนต์ซึ่งถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่จำเลยออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยประทับข้อความที่ด้านหลังเช็คพิพาทว่า “เป็นประกันการชำระหนี้” เห็นได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายรู้เห็นยินยอมนั้น จำเลยเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ความข้อนี้นายชัยวัฒน์ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ไม่เคยได้รับการติดต่อจากจำเลยเกี่ยวกับจำเลยจะออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ที่รับเช็คพิพาทไว้เพราะเข้าใจว่าเป็นเช็คที่ไม่มีปัญหา พฤติการณ์ดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทโดยมีข้อตกลงกับผู้เสียหายว่าผู้เสียหายจะไม่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงิน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้ผู้เสียหายโดยประทับตราข้อความว่า “เป็นประกันการชำระหนี้” ด้านหลังเช็คพิพาทเป็นการแสดงเจตนาให้ผู้เสียหายรู้แต่แรกว่าจำเลยไม่มีเจตนาออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่ารถยนต์ที่ค้างชำระ แต่ออกเช็คพิพาทเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค โดยอ้างเหตุปฏิเสธว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่ และเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเอกสาร จ.3 และ จ.4 จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1), (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share