คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯได้กำหนดไว้ตาม ข้อ 45 โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวด้วยข้อ 36 ถึงข้อ 42 ข้อ 43 และข้อ 44 ประการใด สิทธิของลูกจ้างตามข้อ 45 จะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งต่างกว่าค่าทำงานในวันหยุดประเภทอื่นที่ลูกจ้างอาจเรียกร้องได้ในระหว่างทำงาน ดังนั้น ตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีเกณฑ์จำกัดสิทธิตามตำแหน่งหน้าที่ไว้ดังวันหยุดประเภทอื่น แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาก็มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งผู้จัดการสาขา จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาราชบุรีและเพชรบุรี โจทก์มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่อาจไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย คือ การขาดสิทธิที่จะได้รับค่าเช่าบ้านและค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดรายได้ประจำเดือน สิทธิที่จะได้รับเงินโบนัสจนถึงเกษียณอายุค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งโจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อน ๑๕ วัน แต่มิได้หยุด และเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายขาดไป
จำเลยให้การว่าการเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติงานโดยใช้อารมณ์ มิได้ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พนักงาน มิได้ทำให้พนักงานแตกแยกความสามัคคี ไม่มีอคติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วย แต่โจทก์รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์รายงานเท็จเป็นความผิดตามข้อบังคับของจำเลย มีโทษถึงให้ออก แต่มีเหตุบรรเทาโทษ ผู้จัดการของจำเลยจึงมีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ และย้ายไปสาขาสำนักงานแห่งอื่น โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้จัดการของจำเลยว่าได้รับโทษหนักเกินไป ขอให้ทบทวน จำเลยเห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่อาจไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จึงให้เลิกจ้างโจทก์ สาเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริง เป็นเพราะโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง จึงเป็นการเลิกจ้างโจทก์ไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กำหนดค่าเสียหายให้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท กับเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายขาดไปพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน วินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ ๓๒ จะนำข้อ ๔๓ มาปรับแก่คดีตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหาได้ไม่ พิเคราะห์แล้ว ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ ได้กำหนดไว้ตามข้อ ๔๕ โดยเฉพาะเป็นข้อสุดท้าย มิได้เกี่ยวด้วย ข้อ ๓๖ ถึงข้อ ๔๒ ข้อ ๔๓ และข้อ ๔๔ ประการใดสิทธิของลูกจ้างตามข้อ๔๕ จะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งต่างกว่าค่าทำงานในวันหยุดประเภทอื่นที่ลูกจ้างอาจเรียกร้องได้ในระหว่างทำงาน ตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีเกณฑ์จำกัดสิทธิตามตำแหน่งหน้าที่ไว้ ดังวันหยุดประเภทอื่น ที่ศาลแรงงานกลางนำข้อ ๔๓ มาปรับแก่กรณีเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย จึงเป็นการคลาดเคลื่อน
จำเลยให้การว่า ‘…..วันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งโจทก์อ้างว่ายังมีวันลาเหลืออีก ๑๕ วันนั้น ไม่เป็นความจริง…..’ ประเด็นที่ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแล้วหรือไม่ ยังไม่ใช้สิทธิหยุดกี่วัน เป็นข้อเท็จจริง ศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด สมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อนี้ใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๓ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่เฉพาะประเด็นดังกล่าว แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปตามรูปความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share