คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารแล้วเศรษฐกิจของบ้านเมืองเปลี่ยนไป วัสดุก่อสร้างขึ้นราคา ทางราชการโดยมติคณะรัฐมนตรีจึงคิดค่าวัสดุก่อสร้างที่ราคาเพิ่มขึ้นชดเชยให้แก่ผู้ก่อสร้างที่รับจ้างก่อสร้างอาคารสถานที่ของทางราชการ สัญญาชดเชยค่าก่อสร้างให้ผู้รับจ้างระบุให้ยึดถือ สัญญาการก่อสร้างที่ได้ทำไว้ต่อกันเป็นสัญญาเดิมและเป็นหลักที่จะปฏิบัติตามสัญญานี้ต่อไป เงินชดเชยค่าก่อสร้างจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามสัญญาก่อสร้างเดิม การรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โจทก์เป็นพ่อค้ารับจ้างทำของเรียกร้องเอาค่าทำของจึงต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่วันส่งมอบของ กรณีของโจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2518 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2527 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 165(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายสุวรรณ นางติ่งนามวงศ์ นายสุวรรณเป็นคนไทย นายติ่งเป็นบุตรคนญวนที่เกิดในประเทศไทยนายสุวรรณกับนางติ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ. 2514 ที่ตำบลบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทุกคนเกิดที่อำเภอบึงกาฬจังหวัหนองคาย นายสุวรรณกับนางติ่งได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่6 กรกฎาคม 2526 จึงได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย มิใช่บุคคลประเภทหนึ่งประเภทใดที่จะไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) และพระราชบัญญัติสัญชาติ ค.ศ. 2508 จำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2528 บิดาโจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำขอต่อจำเลยให้จดทะเบียนว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นการละเมิดสิทธิอันพึงได้ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ทุกคนลงในเอกสารต่าง ๆ ตามกฎหมายหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นการส่วนตัวการกระทำของจำเลยตามฟ้องทำในฐานะนายอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคายฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยรับราชการตำแหน่งนายอำเภอบึงกาฬมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่วางไว้ จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทยเพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบราชการใด ๆ ให้อำนาจไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนายติ่ง มายถิ มารดาโจทก์ทั้งห้าเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติญวน สัญชาติญวน อยู่กินฉันสามีภรรยากับนายสุวรรณโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และเกิดบุตรด้วยกันในราชอาณาจักรไทยคือโจทก์ทั้งห้าบิดาและมารดาของโจทก์ทั้งห้าเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากที่โจทก์ทั้งห้าเกิดมาแล้ว ดังนั้นขณะที่เกิดโจทก์ทั้งห้าจึงมีมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 เกิดก่อนที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 เกิดภายหลังประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงถูกถอนสัญชาติไทย และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 1, 2 จำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬ จึงไม่สามารถจดทะเบียนให้โจทก์ทั้งห้าเป็นบุคคลสัญชาติไทย เพราะขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬจดทะเบียนสัญชาติไทยแก่โจทก์ทั้งห้าในเอกสารต่าง ๆ ตามกฎหมาย ส่วนคำขอที่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาของจำเลยแทนหากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นบุตรของนายสุวรรณ นามวงศ์ กับนางติ่ง นามวงศ์หรือนามถิ โดยบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน นายสุวรรณเป็นคนไทย ส่วนนางติ่งเกิดที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย แต่ได้ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เนื่องจากมีบิดามารดาเป็นคนญวน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์ทั้งห้าเกิดที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย โดยโจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2515 ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 เกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับ บิดามารดาโจทก์ทั้งห้าเพิ่มจดทะเบียนสมรสกันเมื่อ พ.ศ. 2526 ส่วนจำเลยเป็นนายอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการที่วางไว้ มีปัญหาวินิจฉัยในข้อแรกว่า โจทก์ที่ 1 ถูกถอนสัญชาติไทย และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) และข้อ 2 หรือไม่ในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและในขณะที่เกิดนั้นบิดาหรือมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎฆมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” เมื่ออ่านแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ทันทีว่าหมายถึงผู้ที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่เดินทางเข้ามาเพื่อจะอยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า”เข้ามา” กับคำว่า “อยู่” ออกจากกัน หากจะให้มีความหมายดังที่จำเลยฎีกา ก็น่าจะแยกถ้อยคำจากกันโดยใช้ข้อความว่า “เป็นผู้ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรไทย” ซึ่งจะทำให้แยกความหมายออกเป็นสองกรณีให้เห็นได้อย่างชัดแจ้ง และตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติข้อความที่มีความหมายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาอยู่แล้วในมาตรา 54 ว่า “คนต่างด้าวผู้ใดเข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต…ฯลฯ” ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า บทบัญญัติมาตรานี้ต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรกับคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักร กฎหมายจึงบัญญัติโดยใช้คำว่า “เข้ามาหรืออยู่” มิฉะนั้นคงไม่ใช้ถ้อยคำแยกกันเช่นนั้น โดยเหตุนี้ความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337ข้อ 1(3) จึงไม่อาจแปลหรือขัดแย้งกับความหมายของถ้อยคำในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และในการแปลความหมายของถ้อยคำในกฎหมายที่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิของบุคคลเช่นนี้ต้องแปลความโดยเคร่งครัด มิใช่แปลขยายความกว้างออกไปดังเช่นที่จำเลยฎีกามา ดังนั้น นางติ่งซึ่งเป็นคนเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุตรนายติ่งและเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ที่ 1 จะเกิดก่อนที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับก็ไม่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ใช้บังคับก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 2 โจทก์ทั้งห้าย่อมได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7(3) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวมิใช่ฟ้องในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนายสุริยน หมั่นอุตส่าห์ เป็นจำเลยโดยหาได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยไม่แต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จำเลยเป็นข้าราชชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวดังที่จำเลยฎีกาไม่ สำหรับฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ และจำเลยไม่มีหน้าที่จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทยนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่าบิดาของโจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ ให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งห้าเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬ ให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share