คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ แต่สั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คำสั่งที่ให้งดการบังคับคดีย่อมสิ้นสุดลง แต่โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวันตามป.วิ.พ. มาตรา 260(2) แล้ว คำสั่ง ศาลชั้นต้น ที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา 254(2) ย่อมมีผลอยู่ต่อไป การบังคับคดีเป็นอำนาจของคู่ความที่ชนะคดีจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์ และการที่โจทก์ขอให้ห้ามโอนขายยักย้ายทรัพย์มรดกพิพาททั้งหมดก็เพราะโจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับมรดก 1 ใน 3 ส่วนทุกรายการ จึงไม่เป็นการห้ามเกินความจำเป็น.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์มรดกของร้อยเอกคง คุปตัษเฐียร ผู้วายชนม์แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นเงิน160,880,703 บาท 32 สตางค์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกบางส่วนแก่โจทก์ไม่เต็มตามฟ้อง โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ และจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์มีใจความว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องและกำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกไว้ว่า ถ้าแบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ไม่ได้ประมูลกันเองระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองก่อน หากประมูลระหว่างกันเองไม่ได้ ก็ให้ขายทอดตลาดและแบ่งเงินที่ขายได้ให้โจทก์ตามส่วน ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราวก่อนพิพากษามิให้จำเลยทั้งสองโอนขายยักย้ายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 3 (เอกสารหมาย จ.4) ตั้งแต่อันดับ 1 ถึง 51 ยกเว้นอันดับที่ 8 ทั้งแปลง แและอันดับที่ 12ที่ได้โอนแก่บุคคลภายนอกแล้ว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า”หมายบังคับคดี แต่เนื่องจากศาลได้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย15 วัน นับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2528 และขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน จนกว่าจะสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์และจำเลยมิได้ขอทุเลาการบังคับคดี ฯลฯ” คดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ฝ่ายเดียวเป็นผู้อุทธรณ์ จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่เห็นสมควรให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 เท่ากับไม่มีการงดการบังคับคดี และตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทรัพย์มรดกส่วนใหญ่ตามบัญชีทรัพย์อันดับ 1, 2, 6 ถึง 14, 19 ถึง 47 คิดเป็นเงิน417,166,530 บาท โจทก์ชนะคดีได้รับเพียง 1 ใน 8 ส่วน คิดเป็นเงิน52,152,812 บาท เท่านั้น ทำให้กองมรดกส่วนนี้เสียหาย และจำเลยทั้งสองเสียเปรียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในทรัพย์ จึงขอให้ศาลปล่อยทรัพย์อันดับ 1, 2, 6 ถึง 14, 19 ถึง 47 ก่อนเพื่อจำเลยที่ 1จะได้ทำการแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวให้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น1 ใน 8 ส่วน ส่วนที่พิพาทอีก 5 ใน 24 ส่วน (เพราะโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งมรดก 1 ใน 3 ส่วน) เป็นเงิน 95,442,229 บาท จำเลยที่ 1จะขอวางศาลไว้ ส่วนทรัพย์อันดับที่ 3, 4, 5, 15, 16, 17 และ 18ซึ่งโจทก์ชนะคดีได้รับ 3 ใน 4 ส่วน จำเลยที่ 1 ยินดีโอนให้โจทก์ทั้งหมดไปก่อน และทรัพย์อันดับที่ 48, 49 และ 51 ราคา 4,574,900 บาทซึ่งโจทก์ชนะคดีได้รับ 1 ใน 4 ส่วนนั้น จำเลยที่ 1 ขออนุญาตจำหน่ายทรัพย์ดังกล่าว และนำเงินค่าทรัพย์ 1 ใน 3 ส่วน เป็นเงิน 1,524,967บาท มาวางศาล และยอมให้โจทก์รับเงินดังกล่าวไปก่อน ทั้งนี้โดยถือว่าโจทก์เป็นหนี้กองมรดกค่าทรัพย์อันดับที่ 3, 4, 5, 15, 16,17 และ 18 ที่รับเกินไป 1 ใน 4 ส่วน และหนี้เงินที่รับจริงไปประมาณ381,242 บาท เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจึงมาหักกลบลบหนี้กัน นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2530 ทางรัฐบาลอาจขึ้นภาษีมรดกจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30การที่โจทก์อายัดที่ดินไว้ย่อมทำให้ทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยทั้งสองเสียหายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นเงิน 39.9 ล้านบาท จำเลยทั้งสองได้ทำตารางเปรียบเทียบทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับบางส่วนและโจทก์ได้อายัดไว้เต็มจำนวนทำให้จำเลยเสียเปรียบ ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งห้ามจำหน่าย จ่าย โอน อสังหาริมทรัพย์ และให้จำเลยที่ 1 ทำการแบ่งทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 และโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามคำร้อง
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าจำเลยทั้งสองเคยยื่นคำร้องทำนองนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ต่อมาได้ถอนคำร้องดังกล่าวเสีย การขอคุ้มครองชั่วคราวและป้องกันการเปลืองไปเปล่านั้น ตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะฝ่ายโจทก์เท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องซ้ำอีกทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และการที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกน้อยกว่าจำเลยทั้งสอง หากไม่รีบแบ่งทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จะทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์นั้น ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายครอบครองใช้สอยทรัพย์มรดกพิพาทเกือบทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งของศาลฎีกา สำหรับการแก้ไขหรือยกเลิกวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษานั้น ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 262 ตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากขณะที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์กลับปรากฏว่าฝ่ายจำเลยแสดงเจตนาจะจำหน่ายโอนทรัพย์มรดกพิพาทให้หมดก่อนคดีถึงที่สุด หากศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดกตามฟ้องแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองตามสิทธิของโจทก์ได้ทั้งปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองใช้สอยทรัพย์มรดกรายพิพาทและไม่เคยแสดงบัญชีดอกผลทรัพย์มรดกหรือค่าใช้จ่ายให้โจทก์ทราบเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่า จำเลยทั้งสองได้เบียดบังเอาดอกผลของทรัพย์มรดกไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจำนวนเท่าใด และการที่จำเลยทั้งสองขอให้ขายทรัพย์มรดกรายพิพาทไปเสียก่อน โดยจะให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก่อนก็ดี หรือตามวิธีการในคำร้องของจำเลยก็ดี โจทก์มั่นใจว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะต้องถูกแก้ไขโดยศาลสูง หากศาลอุทธรณ์อนุญาตตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง โจทก์ย่อมเสียเปรียบและยากที่จะติดตามเอาทรัพย์สินจากจำเลยทั้งสองได้หากโจทก์ชนะคดีเต็มตามฟ้องในที่สุด และบรรดาทรัพย์มรดกนั้นหากเก็บไว้เนิ่นนานไปอีกเล็กน้อยก็ไม่ทำให้ราคาเสื่อมลงกลับจะทำให้ราคาเพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่สมควรที่จำเลยทั้งสองจะต้องรีบด่วนขายไปควรรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนได้สิ้นสุดลงแล้วนั้นโจทก์เห็นว่าการดำเนินการบังคับคดีเป็นเรื่องของโจทก์โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปอย่างไรหรือไม่เป็นเอกสิทธิ์ของโจทก์ การที่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีไว้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) ย่อมเป็นผลให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์จนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้นยังคงอยู่ หากในที่สุดจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 263 ส่วนที่ว่ารัฐบาลจะขึ้นภาษีอากรใน พ.ศ. 2530 นั้นก็เป็นเรื่องเลื่อนลอยไร้เหตุผล ขอให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนโจทก์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่เต็มตามฟ้อง โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260(2) ไว้แล้ว ที่จำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้นและขอให้แบ่งทรัพย์มรดกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าคดียังไม่ถึงที่สุดยังไม่สมควรดำเนินการตามที่จำเลยขอ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์มรดกส่วนใหญ่ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการอยู่แล้ว ถ้าจะรอให้แบ่งเมื่อคดีถึงที่สุด ไม่น่าจะทำให้จำเลยเสียหาย จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกาคำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “หมายบังคับคดี แต่เนื่องจากศาลได้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย 15 วันนับแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2528 และขณะนี้ยังอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ จึงเห็นสมควรให้งดการบังคับคดีไว้ก่อน จนกว่าจะสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์และจำเลยมิได้ขอทุเลาการบังคับคดี ฯลฯ”ปรากฏว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์ฝ่ายเดียว จำเลยทั้งสองมิได้ยื่นอุทธรณ์ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่เห็นสมควรให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนนั้นได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 เท่ากับไม่มีการงดการบังคับคดี และการที่โจทก์ยึดทรัพย์ไว้ทั้งหมดทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบกับการใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์ ทั้งการยึดทรัพย์นั้นจะต้องยึดเพื่อจำหน่าย มิใช่ยึดไว้เฉย ๆ และการยึดทรัพย์พิพาทเป็นการยึดเกินความจำเป็น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดการบังคับคดีไว้ย่อมสิ้นสุดลงดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่สิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260(2) ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ก่อนพิพากษาตามมาตรา 254(2) นั้น ย่อมมีผลอยู่ต่อไป มิได้ถูกยกเลิก และจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกพิพาทมีสิทธิตามกฎหมายที่จะใช้ประโยชน์เกี่ยวกับตัวทรัพย์มรดกอยู่แล้ว จึงไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทรัพย์มรดกแต่อย่างใด กลับจะได้เปรียบเสียอีกส่วนเรื่องการยึดทรัพย์โดยไม่จัดการจำหน่ายทรัพย์นั้น เห็นว่าคดีนี้ ยังมิได้มีการยึดทรัพย์มรดกพิพาท โดยศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามโอน ขาย ยักย้าย ทรัพย์มรดกพิพาทเท่านั้น และเห็นว่าการบังคับคดีเป็นอำนาจของคู่ความฝ่ายที่ชนะคดีจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายสำหรับคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาทเป็นจำนวนเงินเท่าใด โจทก์ย่อมมีสิทธิรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนจึงดำเนินการบังคับคดีต่อไปก็ได้ และการที่โจทก์ขอให้ห้ามโอน ขาย ยักย้ายทรัพย์มรดกรายพิพาททั้งหมดนั้นก็เพราะทรัพย์มรดกเป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับมรดก 1 ใน 3 ส่วนทุกรายการ จึงไม่เป็นการห้ามที่เกินความจำเป็นแต่อย่างใด ฎีกาของนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share