คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4010/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชักชวนผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปรับประทานข้าวต้มด้วยกัน ระหว่างทางจำเลยที่ 3 จอดรถและรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั่งรถไปด้วยโดยเปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 วิ่งหนีออกไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรุมชกต่อยผู้เสียหายจนล้มลง ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นสลบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปได้แล้วจึงช่วยกันจับผู้เสียหายโยนลงไปในคลองโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายมาแต่แรก การพยายามฆ่าผู้เสียหายเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 80, 83, 91, 288, 340 และให้จำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 4,380 บาท ที่ไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80, 288 ประกอบมาตรา 83 อีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามฐานปล้นทรัพย์คนละ 12 ปี และจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าอีกคนละ 10 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 22 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 16 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 9 ปี และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 4,380 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก, 83, 288, 80 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี ลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 7 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยที่ 3 ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ที่ร้านอาหารสายฝน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2533 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา หลังจากร้านอาหารปิดบริการแล้วจำเลยที่ 3 ชวนนางบัวลา ผู้เสียหาย ไปรับประทานข้าวต้มที่ตลาด ผู้เสียหายตกลงและได้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับ ระหว่างทางจำเลยที่ 3 จอดรถและรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งผู้เสียหายเคยเห็นหน้ามาก่อน จำเลยที่ 3 เปลี่ยนให้จำเลยที่ 1 เป็นคนขับ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปถึงบนสะพานคลองแร่บริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จอดรถ แล้วจำเลยที่ 3 วิ่งออกไป ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นสลบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงร่วมกันถอดเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น แหวนทองคำ 1 วง และนาฬิกาข้อมือ 1 เรือน รวมราคา 4,380 บาท ที่ผู้เสียหายสวมอยู่ไป แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยกันจับผู้เสียหายโยนลงไปในคลองใต้สะพาน จากนั้นจำเลยทั้งสามขับรถจักรยานยนต์หลบหนี ส่วนผู้เสียหายได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมตำรวจ…
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดกรรมเดียวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์มาจอดในที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 3 วิ่งหนีออกไป จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันรุมชกต่อยผู้เสียหายจนล้มลง ผู้เสียหายแกล้งทำเป็นสลบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันปลดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปได้แล้ว จึงช่วยกันจับผู้เสียหายโยนลงไปในคลองโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหายเพื่อปกปิดความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนแล้ว มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายมาแต่แรก การพยายามฆ่าผู้เสียหายเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหาก การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าเป็นความผิดต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวกันนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยความผิดฐานปล้นทรัพย์ให้จำคุกคนละ 10 ปี ลดโทษหนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 7 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับความผิดฐานพยายามฆ่าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้วให้จำคุกคนละ 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share