คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2512

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเป็นกฎหมายสูงสุด บทกฎหมายใดที่ขัดกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรย่อมจะนำมาใช้บังคับไม่ได้. คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย. ผู้ใดจะอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวขัดต่อกฎหมายนั้น ย่อมฟังไม่ได้.
การวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา 17หรือไม่นั้น. อยู่ที่ความเห็นของนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีว่าสมควรต้องมีคำสั่งหรือกระทำ มิได้อยู่ที่มีพฤติการณ์บ่อนทำลายจริงหรือไม่. และมาตรา 17 มิได้ระบุให้ใช้มาตรการเช่นนั้นแก่ผู้กระทำการบ่อนทำลายโดยเฉพาะ. แต่ให้ใช้เพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลาย. แม้ผู้กระทำการบ่อนทำลายตายไปแล้วแต่ผลแห่งการกระทำยังอยู่ ผู้ได้ร่วมรับผลนั้นด้วยย่อมอยู่ในข่ายแห่งมาตรา 17(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 494/2510).
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน.จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้กู้. จำเลยที่2 ในฐานะเจ้าของร่วม ในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้กู้เงินรายนี้. โดยได้สมรู้ร่วมกันกับบริษัทเจ้าหนี้ปกปิดอำพรางนิติกรรมอันแท้จริงไว้ โดยให้เอาชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ไว้เป็นพิธี และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน. หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลย การทำสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทเจ้าหนี้นั้น ก็เป็นการแสดงเจตนาลวงไว้เท่านั้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้กันอยู่แล้ว. เมื่อนิติกรรมทำขึ้นโดยเจตนาลวง จำเลยที่1 ก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา118. (ข้อกฎหมายวรรคนี้ วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่23,24,25,26,27,28/2512).
สัญญาจำนำไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ. ลูกหนี้ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ว่า ได้มีการมอบใบหุ้นให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นการจำนำ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด พ้นสภาพจากการเป็นบริษัท และให้กิจการทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทตกเป็นของรัฐและให้โจทก์เป็นเจ้าของกิจการ เมื่อครั้งบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดยังไม่พ้นสภาพ จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินบริษัท 5,000,000 บาท มีกำหนด1 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 2 ขอเอาหุ้นที่ซื้อเพิ่มจากสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด เป็นประกันด้วย ครบสัญญาและโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้อง ความจริงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับหนังสือเรียกให้ชำระค่าหุ้นบริษัทสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด ที่มีสิทธิจะซื้อเพิ่มเติมเป็นจำนวน 4,962,500 บาท เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเป็นผู้ถือหุ้น ถ้าไม่ชำระเงินพร้อมกับซื้อหุ้นเพิ่ม ธนาคารจะจำหน่ายหุ้นให้แก่ผู้อื่น ขณะนั้นคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้อายัดเงินของกองมรดกและของจำเลยที่ 2 ไว้ทั้งหมด จำเลยที่ 2 ทั้งในฐานะส่วนตัวและผู้จัดการมรดกไม่มีเงินจะซื้อหุ้นได้ จำเลยที่ 2 ได้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการสอบสวนฯ เพื่อถอนเงินในบัญชีไปซื้อหุ้น แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อนุมัติ จำเลยที่ 2 จึงตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไปกู้เงินบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด 5,000,000 บาท ได้มีการประชุมกรรมการบริษัทฯ กรรมการเข้าใจเจตนาอันแท้จริงของการกู้ยืมเงินจำนวนนี้ว่า กองมรดกจอมพลสฤษดิ์กู้ แต่ได้เจรจากันขอให้เอาชื่อของจำเลยที่ 1 ลงเป็นผู้กู้ไว้เป็นพิธี เป็นการอำพรางนิติกรรมที่แท้จริงไว้ บริษัทฯ ก็ยินยอมได้ทำนิติกรรมอำพรางไว้ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้กู้ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทฯ และที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดก หนี้รายนี้เป็นหนี้ผูกพันกองมรดกจอมพลสฤษดิ์ มิใช่หนี้ส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง และตัดฟ้องว่าถ้าบริษัทสิ้นสภาพ ก็โอนหนี้ให้รัฐไม่ได้ ทั้งไม่เคยมีการแจ้งโอนหนี้ โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้นำใบหุ้นที่ซื้อเพิ่มไปเป็นประกันต่อบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดหุ้นมีราคาสูงกว่าหลายเท่าของเงิน 5,000,000 บาท แม้คำสั่งนายกรัฐมนตรีบังคับได้ บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด โดยคำขอของจำเลยที่ 2 บริษัทหรือโจทก์จะต้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้เอาจากหุ้นซึ่งเป็นประกันจากโจทก์เอง การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้หุ้นของบริษัทสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด เป็นประกันนี้ เป็นการจำนำตามกฎหมาย แต่หากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีและหรือโจทก์ซึ่งได้ทำลายหลักประกันหรือทรัพย์จำนำเอง โดยออกคำสั่งให้ทรัพย์ของจอมพลสฤษดิ์และของจำเลยที่ 2 ตกเป็นของรัฐ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ แล้วศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ใช้ก่อน ถ้าไม่ใช้ให้จำเลยที่ 2ใช้แทน จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา 1. จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ที่สั่งให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดพ้นสภาพจากการเป็นบริษัท และให้กิจการทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทฯตกเป็นของรัฐ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236, 1237และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2505 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรใช้บังคับอยู่นั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรย่อมเป็นกฎหมายสูงสุดบทกฎหมายใดที่ขัดกับธรรมนูญการปกครองย่อมจะนำมาใช้บังคับไม่ได้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครอง เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีขัดต่อกฎหมาย จึงเป็นอันตกไป ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การก่อตั้งบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด นั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ไม่ใช่เป็นการบ่อนทำลายแต่ประการใดคำสั่งของนายกรัฐมนตรีเป็นการฝ่าฝืนข้อเท็จจริงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหานี้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 494/2510 ว่าการวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา 17 หรือไม่ อยู่ที่ความเห็นของนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีว่าสมควรต้องมีคำสั่งหรือกระทำมิได้อยู่ที่มีพฤติการณ์บ่อนทำลายจริงหรือไม่ และมาตรา 17 มิได้ระบุให้ใช้มาตรการเช่นนั้นแก่ผู้กระทำการบ่อนทำลายโดยเฉพาะ แต่ให้ใช้เพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลาย แม้จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว และผลของการที่จอมพลสฤษดิ์กระทำไปยังคงอยู่ และโจทก์ได้ร่วมรับผลนั้นด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่อยู่ในข่ายแห่งมาตรา 17 นั้น คดีนี้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด เป็นผู้ได้รับผลจากการกระทำของจอมพลสฤษดิ์ จึงอยู่ในข่ายที่นายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งตามมาตรา17 ได้ตามนัยฎีกาดังกล่าว 2. จำเลยฎีกาว่า สัญญากู้ยืม และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้อง เป็นนิติกรรมอำพรางใช้บังคับไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามข้อต่อสู้ของจำเลยแล้วการทำสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด นั้นก็เป็นการแสดงเจตนาลวงไว้เท่านั้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้กันอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้กู้แต่ประการใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด ทำขึ้นโดยเจตนาลวงแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของร่วมในฐานะทายาท และในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้กู้เงินรายนี้นั้นข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำในฐานะใด ยังไม่สามารถที่จะวินิจฉัยชี้ขาดลงไปได้ว่า จำเลยที่ 2 จะพ้นความรับผิดตามข้อต่อสู้ของจำเลยหรือไม่ จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 2 นำสืบข้อเท็จจริงต่อไป 3. จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 1-2 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวก็ดี แต่จำเลยที่ 2 ได้เอาใบหุ้นของสหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด ไปจำนำไว้ ซึ่งใบหุ้นมีราคามากกว่าเงินที่จำเลยกู้มา บริษัทบางกอกกระสอบจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะต้องเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ก่อน ซึ่งก็คงเป็นจำนวนเงินเพียงพอ และว่าการที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ริบใบหุ้นเป็นของรัฐนั้น เป็นการทำลายหลักประกันของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้สินต่อไป ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาจำนำไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือฉะนั้นจำเลยจะนำพยานบุคคลเข้าสืบว่า ได้มีการมอบใบหุ้นให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด ยึดถือไว้เป็นการจำนำ ย่อมนำสืบได้ ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด รับจำนำใบหุ้นไว้เป็นประกันจริง การที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ริบใบหุ้นซึ่งเป็นหลักประกัน ให้ตกเป็นของรัฐ แล้วรัฐหรือโจทก์มาฟ้องจำเลยให้ชำระเงินกู้จำนวนนี้อีกนั้น จำเลยจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่นั้น ศาลล่างยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งเป็นสมควรที่จะให้ได้รับการวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สมควรให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย ดังนี้ 1. จำเลยได้กู้เงินจำนวนนี้ไปซื้อหุ้นของสหธนาคารกรุงเทพฯจำกัด จริงหรือไม่ 2. การทำสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ 1กับบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดเป็นเจตนาลวงหรือไม่ 3. จำเลยที่ 2 ค้ำประกัน ในฐานะอะไร 4. ได้เอาใบหุ้นไปจำนำไว้จริงหรือไม่ และ 5. ใบหุ้นที่ถูกริบไปทั้งหมดมีราคาเท่าใด โดยให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่.

Share