แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เพียงแต่มอบหมายให้การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการเก็บรักษาซ่อมแซม แจ้งความ กล่าวโทษ แจ้งราคาค่าเสียหายของทรัพย์และรับชำระหนี้ที่ผู้ละเมิดยอมชดใช้ให้ในชั้นแจ้งความที่สถานีตำรวจ ส่วนการติดตามทวงถามเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดซึ่งไม่ยอมชดใช้ โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยขอให้การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมกับรวบรวมหลักฐานส่งไปให้โจทก์ ดังนี้ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นตัวแทนโจทก์ในการติดตามทวงถามเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นวันที่ 22 สิงหาคม 2524 ครั้นวันที่16 กุมภาพันธ์ 2525 การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเรื่องการละเมิดและผู้ทำละเมิดให้โจทก์ทราบโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 คดีจึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเสาเหล็กโคมไฟฟ้าสาธารณะโจทก์กับการไฟฟ้านครหลวงตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาไฟฟ้าสาธารณะปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับขี่รถยนต์ชนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงซึ่งติดตั้งโคมไฟฟ้าของโจทก์ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 4,006.95 บาท เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์กับการไฟฟ้านครหลวงมีข้อตกลงกันว่าให้การไฟฟ้านครหลวงดูแลรักษาไฟฟ้าสาธารณะ ดำเนินการเป็นเจ้าของเรื่องเมื่อเสาไฟฟ้าถูกรถชน แสดงว่าโจทก์ทราบเหตุคดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2524 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 29กันยายน 2525 คดีจึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือที่ กทม.0306/17349 ลงวันที่ 29กันยายน 2519 โจทก์มอบหมายให้การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการเก็บรักษา ซ่อมแซม แจ้งความ กล่าวโทษ และแจ้งราคาค่าเสียหายของทรัพย์ และรับชำระหนี้ที่ผู้ละเมิดยอมชดใช้ให้ในชั้นแจ้งความที่สถานีตำรวจเท่านั้น ส่วนการติดตามทวงถามเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิดซึ่งไม่ยอมชดใช้ โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินการเองโดยขอให้การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นให้โจทก์ทราบโดยด่วนพร้อมกับรวบรวมหลักฐานส่งไปให้โจทก์ด้วย ตามข้อความในหนังสือดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวว่า ในขณะที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการต่างๆ ตามที่โจทก์มอบหมายนั้น โจทก์ยังไม่ทราบเหตุที่เกิดขึ้น หากผู้ละเมิดไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายและต้องติดตามทวงถามเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ละเมิด จึงให้การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเหตุให้โจทก์ทราบ ดังนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นตัวแทนโจทก์ในการติดตามทวงถามเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหาย ครั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 การไฟฟ้านครหลวงแจ้งเรื่องการละเมิดและผู้กระทำละเมิดให้โจทก์ทราบ ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 นับแต่วันที่การไฟฟ้านครหลวงแจ้งให้โจทก์ทราบจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลายังไม่เกิน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ดังนี้ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน