คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนานัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 241.1 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการต้นทางเพียงแต่ตรวจสอบแบบ ธน.31ท่อนที่1ซึ่งได้รับคืนแบบธน.1ของธนาณัติฉบับนั้น และแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 235 เมื่อโจทก์ผู้ฝากไม่ได้ไปขอรับเงินคืนในกำหนดเวลาดังกล่าว การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยจึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลย เพราะโจทก์ไม่ไปขอรับเงินตามระเบียบ ข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2539 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 8,096 บาท ฝากส่งไปรษณีย์ธนาณัติ ณ ที่ทำการของจำเลยที่ 2 ไปยังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากปลายทาง เพื่อให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อมาเดือนพฤษภาคม 2543 โจทก์ทราบว่าบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้รับเงินไปรษณีย์ธนาณัติที่โจทก์ส่งไปให้จึงได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปรษณีย์ธนาณัติเป็นรายได้ของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่สามารถส่งเงินไปรษณีย์ธนาณัติให้แก่ผู้รับตามจ่าหน้าได้ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนาณัติหมวดที่ 24 ข้อ 235 และ 236 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถรับเงินที่โจทก์ฝากส่งคืนได้ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,287 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 10,383 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 8,096 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ได้ฝากส่งไปรษณีย์ธนาณัติตามฟ้องจริง แต่ผู้รับเงินตามจ่าหน้าไม่มารับเงินภายในกำหนด 2 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่ง ไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากซึ่งเป็นที่ทำการปลายทาง จึงส่งไปรษณีย์ธนาณัติดังกล่าวคืนไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางเพื่อจ่ายเงินธนาณัติคืนแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มาติดต่อขอรับเงินภายในกำหนดเวลา 4 เดือน ไปรษณีย์ธนาณัติของโจทก์จึงพ้นอายุการจ่ายเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 234, 235 และจำเลยที่ 1 ได้ประกาศโฆษณาให้ผู้รับเงินหรือผู้ฝากที่มีใบไปรษณีย์ธนาณัติภายในประเทศที่ฝากส่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2539 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2539 มาติดต่อขอรับเงินภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1มิถุนายน 2540 แล้ว แต่โจทก์ไม่มาติดต่อขอรับเงินคืนในกำหนด จำเลยที่ 1 จึงระงับการจ่ายเงินและดำเนินการโอนเงินธนาณัติดังกล่าวเป็นรายได้ของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 236 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 34(2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2539 โจทก์ฝากส่งเงิน 8,096 บาท กับจำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศจากไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางไปยังไปรษณีย์โทรเลขหัวหมาก ที่ทำการปลายทางเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่บริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับ และไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากได้จัดส่งใบแจ้งความไปรษณีย์ธนาณัติสำหรับผู้รับไปขอรับเงิน (แบบธน.31 ท่อนที่ 2) ให้แก่บริษัทเอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แล้ว แต่บริษัทดังกล่าวไม่ไปขอรับเงินภายในกำหนด 2 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่ง ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 235.1 ไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากจึงส่งใบไปรษณีย์ธนาณัติสำหรับ นปท. (ธน.31 ท่อนที่ 1) คืนไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางตามระเบียบ ฉบับที่ 61 ข้อ 238 เพื่อจ่ายเงินคืนแก่โจทก์ผู้ฝากส่ง ไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีรอโจทก์ติดต่อขอรับเงินคืนโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า บริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับไม่ได้ไปขอรับเงิน จนกระทั่งครบกำหนด 4 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่งตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 234.12 ปรากฏว่าโจทก์มิได้ไปขอรับเงินคืน และเมื่อครบกำหนด 6 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่ง ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 235.3 แล้ว โจทก์และบริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดก็มิได้ไปขอรับเงิน จำเลยที่ 1 จึงประกาศโฆษณาให้โจทก์และบริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำหลักฐานไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 โจทก์และบริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด มิได้ไปขอรับเงินในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงโอนเงินธนาณัติเป็นของจำเลยที่ 1ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดคืนเงินไปรษณีย์ธนาณัติตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อได้รับ ธน.31 ท่อนที่ 1 คืนจากไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากที่ทำการปลายทางแล้ว ไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเสียก่อนว่า บริษัท เอส.พี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับไม่ได้ไปขอรับเงินจึงจะถือว่าโจทก์ไม่ไปติดต่อขอรับเงินคืนในกำหนดตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 235 เมื่อไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้ เห็นว่า เดิมระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 241.1 กำหนดว่าเมื่อที่ทำการต้นทางได้รับแบบ ธน.31 ท่อนที่ 1 ซึ่งที่ทำการปลายทางส่งคืนให้ตามข้อ 238ให้ตรวจสอบกับแบบ ธน.1 (ใบฝากธนาณัติในประเทศ) ของธนาณัติฉบับนั้น หากเป็นรายที่ไม่มีหมายเหตุการออกแบบ ธน.10 ก. (ใบแทนไปรษณีย์ธนาณัติ) หรือหมายเหตุให้ระงับการจ่ายเงินคืนใด ๆ อย่างกรณีของโจทก์ให้แจ้งผู้ฝากทราบเพื่อรับเงินคืน ด้วยแบบธน.47 ท่อนที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้ระเบียบดังกล่าวได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่12 ตุลาคม 2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการต้นทางเพียงแต่ตรวจสอบแบบ ธน.31 ท่อนที่ 1 ซึ่งได้รับคืนแบบ ธน.1 ของธนาณัติฉบับนั้น และแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2539 ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 235 เมื่อโจทก์ผู้ฝากไม่ได้ไปขอรับเงินคืนในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ไปขอรับเงิน ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share