แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การฟ้องและการดำเนินคดีไม่อยู่ในบังคับของการจัดการสินสมรสที่ ป.พ.พ. มาตรา 1476 บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งตามมาตรา 1477 ยังได้บัญญัติรับรองให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ด้วย ดังนั้น แม้จะได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าโจทก์เป็นหญิงมีสามีโดยชอบด้วยกฎหาย โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,011,156.19 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 950,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค9 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์และจำเลยทำธุรกิจค้าทองรูปพรรณโดยจำเลยเป็นผู้ซื้อจากโจทก์ไปขายต่อแก่ลูกค้า และจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เงินให้ไว้แก่โจทก์ กับทั้งจำเลยค้างชำระค่าทองรูปพรรณที่จำเลยรับไปจากโจทก์ด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหานี้นอกจากการฟ้องคดีการดำเนินคดีจะมิใช่กรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ตามมาตรา 1477 ยังได้บัญญัติรับรองให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลำพังมีสิทธิฟ้องต่อสู้หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรสได้ด้วย ดังนั้นแม้จะได้ความตามข้อนำสืบของจำเลยโดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีมีคู่สมรส โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์หรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยได้รับเงินไปตามหลักฐานหนังสือสัญญากู้เงินท้ายคำฟ้อง โดยโจทก์เข้าเบิกความนำสืบว่า จำเลยได้ซื้อทองรูปพรรณจากโจทก์ไปขายต่อ และค้างชำระราคาค่าทองรูปพรรณดังกล่าวหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 950,000 บาท ต่อมาจำเลยจึงตกลงทำหนังสือสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ตามจำนวนเงินที่ค้างดังกล่าว เบี้องแรกย่อมเห็นได้ว่า ตามทางนำสืบของโจทก์นั้น หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวมิได้เกิดจากโจทก์ให้จำเลยกู้และรับเงินไปดังคำฟ้องแต่มีมูลหนี้มาจากจำเลยตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าทองรูปพรรณแก่โจทก์และจำเลยยังมิได้ชำระ ถึงอย่างไรก็ตามถ้าเป็นความจริงดังที่นำสืบ ก็ถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้เดิมที่ค้างชำระมาเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน โจทก์ย่อมฟ้องบังคับเอาได้ตามหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว กรณีมิใช่เป็นดังที่จำเลยหยิบยกเป็นข้อโต้แย้งในฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์นั้น เห็นว่า สัญญากู้เงินมีข้อความระบุว่า เพื่อเป็นหลักฐานจำเลยได้มอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาเพชรเกษม รวม 5 ฉบับ เป็นเงิน 950,000 บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้ด้วย เช็คดังกล่าวนี้จำเลยเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้พาจำเลยไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาเพชรเกษม แล้วให้จำเลยออกเช็คพร้อมกับทำสัญญากู้เงินให้โจทก์นำไปแสดงต่อร้านทองเพื่อนำทองรูปพรรณมาให้จำเลยขายอีกต่อหนึ่ง ซึ่งหากเป็นความจริงจำเลยก็ไม่น่าจะมีบัญชีที่ธนาคารดังกล่าวถึง 2 บัญชีดังที่เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านร้านทองที่จำเลยอ้างถึงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นร้านใด จำเลยอ้างว่าทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เพื่อนำไปแสดงต่อร้านทอง เป็นการโต้เถียงว่าสัญญากู้เงินไม่มีมูลหนี้ แต่จำเลยกลับนำสืบต่อไปว่าจำเลยค้างชำระค่าทองรูปพรรณแก่โจทก์เพียง 50,000 บาท หนี้ส่วนที่เหลือตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ส่วนของนางรัตติกาล ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยแนะนำให้โจทก์รู้จักและทำธุรกิจซื้อขายทองรูปพรรณอยู่ด้วยกัน เท่ากับเป็นการยอมรับว่าสัญญากู้เงินมีมูลหนี้ เหตุผลตามทางนำสืบของจำเลยจึงกลับไปกลับมา โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เพียง 50,000 บาท ที่จำเลยนำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้คดีฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโดยมีมูลหนี้มาจากค่าทองรูปพรรณที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้