คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง…ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง…แล้วแต่กรณี” ฉะนั้นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลนำเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างแพ้คดีก็เพื่อมุ่งที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยเร็วและทันที ไม่ต้องการให้มีกระบวนการบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นหรือให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวการชำระเงินให้ชักช้า หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์ทั้งสี่นำมาวางศาลนั้น เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารให้ไว้แก่ศาลว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 (นายจ้าง) ชำระเงินตามคำสั่งของจำเลยแล้ว หากนายจ้างไม่ชำระเงิน ธนาคารจะชำระแทน เช่นนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนายจ้างไม่ชำระเงิน ศาลต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ธนาคารชำระเงินนั้นก่อน โดยที่ธนาคารก็อาจมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดได้ หนังสือค้ำประกันของธนาคารในคดีนี้จึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 72/2560 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เรื่อง ค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ระหว่างนายวุฒิพงศ์ และนายชลธาร กับพวกรวม 22 คน ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้อง กับโจทก์ทั้งสี่กับพวกรวม 6 คน สั่งให้โจทก์ทั้งสี่ในฐานะนายจ้างจ่ายเงินต่าง ๆ ข้างต้น รวม 3,314,957.34 บาท แก่นายวุฒิพงศ์และนายชลธาร กับพวกรวม 22 คน ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยและมีคำขอให้เรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งฉบับดังกล่าวโดยไม่ได้วางเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยต่อศาล แต่ขอวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันเลขที่ 02001171002775 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งระบุค้ำประกันเฉพาะโจทก์ที่ 2 แทน ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งไม่รับหลักประกันดังกล่าวและให้โจทก์ทั้งสี่วางเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยต่อศาลภายในสิบห้าวัน แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องและคำขอเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความในคดีในฐานะผู้ร้องสอดตามคำขอของโจทก์ทั้งสี่ต่อไป
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน แต่ให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสี่นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลอีกครั้งหนึ่งภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร กับมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่และคำขอเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความในคดีในฐานะผู้ร้องสอดที่ยังมิได้สั่งต่อไป
โจทก์ทั้งสี่ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่เสนอหนังสือค้ำประกันธนาคารให้เป็นหลักประกันต่อศาลแทนการวางเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งที่ 72/2560 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ให้โจทก์ทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่นายวุฒิพงศ์ และนายชลธาร กับพวกรวม 22 คน รวมเป็นเงิน 3,314,957.34 บาท โจทก์ทั้งสี่จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและขอให้เรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความ การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 72/2560 ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 บัญญัติไว้ โจทก์ทั้งสี่ได้เสนอหนังสือค้ำประกันเลขที่ 02001171002775 ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นหลักประกันแทนการวางเงินต่อศาล ซึ่งตามมาตรา 125 วรรคสาม บัญญัติว่า”ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” และมาตรา 125 วรรคสี่ บัญญัติต่อไปว่า “เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง…ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง…แล้วแต่กรณี” ฉะนั้นที่กฎหมายกำหนดให้ศาลนำเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลจ่ายให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างแพ้คดีก็เพื่อมุ่งที่จะให้ลูกจ้างได้รับเงินโดยเร็วและทันที ไม่ต้องการให้มีกระบวนการบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นหรือให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวการชำระเงินให้ชักช้า หนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่โจทก์ทั้งสี่นำมาวางศาลนั้น เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารให้ไว้แก่ศาลแรงงานกลางว่า เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 (นายจ้าง) ชำระเงินตามคำสั่งของจำเลยแล้ว หากนายจ้างไม่ชำระเงิน ธนาคารจะชำระแทน เช่นนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนายจ้างไม่ชำระเงิน ศาลต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชำระเงินนั้นก่อน โดยที่ธนาคารก็อาจมีข้อโต้แย้งปฏิเสธความรับผิดได้ หนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในคดีนี้ จึงมิใช่วัตถุที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายทำนองเดียวกับเงินซึ่งศาลนำมาจ่ายให้ลูกจ้างได้ทันที ที่ศาลแรงงานกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่เสนอหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นหลักประกันต่อศาลแทนการวางเงิน เพื่อฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสี่นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสี่วางเงินครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาแล้ว ให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่และคำขอเรียกบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นคู่ความในคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share