คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม จำเลยให้การรับสารภาพ โดยที่ข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ก. ก็ดี ตามฟ้องข้อ 2 ก็ดี ล้วนเป็นข้อหาฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองได้ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 78 บทมาตราเดียวกัน วันเวลาที่กล่าวหาตามฟ้องข้อ 1 ก. คือวันที่ 18 สิงหาคม 2526 ตามฟ้องข้อ 2 คือวันที่ 17 สิงหาคม 2526 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2526 เวลากลางวันติดต่อกัน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ยังครอบครองอยู่เรื่อยมา จะถือว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ 17 กรรมหนึ่ง และกระทำผิดในวันที่ 18 อีกกรรมหนึ่งหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ 18 วันเดียวกันนั่นเอง โดยเฉพาะจำเลยถูกจับในคราวเดียวกัน ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 และในฟ้องของโจทก์ก็ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าตำรวจตรวจค้นจับกุมยึดเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องข้อ1 ก. และข้อ 2 ได้ในวันที่ 18 สิงหาคม 2526 วันเดียวกัน จึงต้องถือว่าจำเลยกระทำผิดในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาให้เกิดผลเป็นกรรมเดียวกัน ลักษณะของการกระทำก็อย่างเดียวกันผิดกฎหมายบทเดียวกัน และในวันเวลาเดียวกันด้วย แม้สถานที่ที่จำเลยซุกซ่อนเครื่องกระสุนปืนเหล่านั้นไว้จะอยู่ต่างตำบลกันบ้างก็หาทำให้มีผลแตกต่างกันไปไม่ในเมื่อจำเลยได้มีเครื่องกระสุนปืนเหล่านั้นไว้ในครอบครองโดยเจตนากระทำผิดกฎหมายบทเดียวกันในคราวเดียวกันนั่นเอง จึงต้องถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายบทหลายกรรมต่างกันคือ
ข้อ ๑ ก. เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามบังอาจร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืน ประเภทที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองได้ คือ กระสุนปืนอาร์ก้าขนาด ๗.๖๒ มม. รัสเซี่ยน จำนวน ๒๕,๙๔๕ นัด เครื่องกระสุนปืนชนิดจรวดยิงต่อสู้รถถังแบบ อาร์.พี.จี. ขนาด ๔๐ มม.จำนวน ๒ ลูก พร้อมดินขับจรวด และหางจรวดจำนวน ๒ แห่ง ข.ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสามบังอาจร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคมคลื่นสั้นชนิดถือประจำตัวรวม ๒ เครื่องไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย เหตุเกิดที่ตำบลลุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ข้อ ๒. เมื่อระหว่างวันที่ ๑๗ ถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางคืนและกลางวันติดต่อกัน จำเลยที่ ๑ บังอาจมีเครื่องกระสุนปืนประเภทที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองได้คือ กระสุนปืนเอ็ม. ๑๖ ขนาด .๒๒๓ จำนวน ๒๙๒ นัดเครื่องกระสุนปืนยิงระเบิดแบบ เอ็ม. ๗๙ ขนาด ๔๐ มม. จำนวน ๑๖ นัด เหตุเกิดที่ตำบลกระหวัน อำเภอขุนหาญ และที่ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษเกี่ยวพันกัน
ข้อ ๓. จำเลยที่ ๑ กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องบังอาจร่วมกันปลอมบัตรประจำตัวข้าราชการทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหมฉบับเลขที่ ๗๐/๒๕๒๔ อันเป็นเอกสารราชการ
ขอให้ลงโทษจำเลยในการกระทำตามฟ้องทั้ง ๓ ข้อนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘ ซึ่งแก้ไขใหม่พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖, ๒๓ และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพตามฟ้องตลอดข้อกล่าวหาส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดี เพื่อให้โจทก์ยื่นฟ้องใหม่ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕,๗๘ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๖, ๒๓ ลงโทษฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองกรรมแรกจำคุก ๒๐ ปี กรรมที่สองจำคุก ๑๒ ปีรวมสองกรรมจำคุก ๓๒ ปีฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๔ ปี ฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำคุก ๔ ปี รวมแล้วให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๔๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๒๐ ปี ริบของกลางทั้งหมด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในความครอบครองเพียงกรรมเดียวไม่ใช่สองกรรมและศาลชั้นต้นกำหนดโทษหนักเกินไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ฐานมีเครื่องกระสุนปืน ๑๕ ปี ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ๒ ปีฐานใช้เอกสารราชการปลอม ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด๑๙ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๙ ปี ๖ เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องข้อ๑ ก. ก็ดี ตามฟ้องข้อ ๒ ก็ดี ล้วนเป็นข้อหาฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๓ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๘ ซึ่งเป็นความผิดในบทมาตราเดียวกันนั่นเอง วันเวลาที่กล่าวหาตามฟ้องข้อ ๑ ก. คือวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางคืน วันเวลาที่กล่าวหาตามฟ้องข้อ ๒ คือวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ เวลากลางวันติดต่อกัน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดเวลาที่ยังครอบครองอยู่เรื่อยมา จะถือว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ ๑๗ กรรมหนึ่ง และกระทำผิดในวันที่ ๑๘ อีกกรรมหนึ่งหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยกระทำผิดในวันที่ ๑๘ วันเดียวกันนั่นเอง โดยเฉพาะจำเลยก็ถูกจับได้ในคราวเดียวกัน ดังจะเห็นได้ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ ๑ และในฟ้องข้อ ๔ ของโจทก์ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าตำรวจตรวจค้นจับกุมยึดเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องข้อ ๑ ก.และข้อ ๒ ได้ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖ วันเดียวกัน จึงต้องถือว่าจำเลยกระทำผิดในคราวเดียวกันโดยมีเจตนาให้เกิดผลเป็นกรรมเดียวกัน ลักษณะของการกระทำก็อย่างเดียวกันผิดกฎหมายบทเดียวกัน และในวันเวลาเดียวกันด้วย แม้สถานที่ที่จำเลยซุกซ่อนเครื่องกระสุนปืนเหล่านั้นไว้จะอยู่ต่างตำบลกันบ้างก็หาทำให้มีผลแตกต่างกันไปไม่ ในเมื่อจำเลยได้มีเครื่องกระสุนปืนเหล่านั้นไว้ในครอบครองโดยเจตนากระทำผิดกฎหมายบทเดียวกันในคราวเดียวกันนั่นเอง จึงต้องถือว่าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
พิพากษายืน.

Share