แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมสรรพากรมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษี โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ดังนี้ นับว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2683/2517)
ผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70ทวิ นั้น ต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร และเงินที่จำหน่ายนั้นต้องเป็นกำไรโดยแท้จริงซึ่งหักต้นทุนออกแล้ว โจทก์เป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยของบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นให้ได้รับความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ม. ลูกค้าเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าต่อบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง โจทก์ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ของบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นเฉพาะกำไรสุทธิที่ทำการค้าในประเทศไทยดังนี้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร เงินที่ลูกค้าส่งไปให้แก่บริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเงินค่าซื้อสินค้า ไม่ใช่กำไร โจทก์จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินภาษีเงินได้ให้โจทก์ในฐานะตัวแทนบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่น นำภาษีเงินได้และเงินเพิ่มไปชำระ โดยอ้างว่าโจทก์ได้จำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยให้ได้ความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ม. โดยผู้ซื้อเป็นผู้สั่งซื้อและชำระเงินให้กับบริษัท ม. โดยตรงแต่เมื่อครบรอบระยะบัญชีโจทก์ได้ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ของบริษัท ม. เฉพาะกำไรสุทธิที่ทำการค้าในประเทศไทย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะเป็นการเรียกเก็บภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนและกรณีไม่เข้ามาตรา 70 ทวิ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน และเพิกถอนการประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประกอบกิจการมีกำไรสุทธิจากกิจการในประเทศไทย โจทก์กับบริษัท ม. ได้ร่วมกันจำหน่ายรายรับและเงินกำไรสุทธิออกไปต่างประเทศโดยมิได้เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แม้เงินดังกล่าวได้ส่งไปโดยการเปิดบัญชีทางธนาคารระหว่างลูกค้ากับบริษัท ม. โดยตรง ก็เป็นเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย โดยโจทก์มีส่วนร่วมในการส่งด้วยและเงินนั้นนอกจากเป็นต้นทุนยังมีผลกำไรรวมอยู่ด้วย ถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายกำไรออกจากประเทศไทย การเสียภาษีเงินได้ของนิติบุคคลประเภทนี้กฎหมายกำหนดการเสียไว้ 2 ประการ คือภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีกับภาษีเงินได้เมื่อจำหน่ายเงินกำไรออกไปต่างประเทศ ฉะนั้น คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ 1 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งยกอุทธรณ์ของโจทก์ ดังนี้ นับว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2683/2517
ปัญหาว่าคำสั่งแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่าผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวินั้น ต้องเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร และเงินที่จำหน่ายจะต้องเป็นกำไรโดยแท้จริงซึ่งหักต้นทุนออกแล้ว โจทก์เป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าในประเทศไทยของบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นให้ได้รับความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ม. ลูกค้าเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าและชำระเงินค่าสินค้าต่อบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นโดยตรง เมื่อครบรอบระยะเวลาบัญชี บริษัท ม. รายงานยอดกำไรสุทธิเฉพาะกิจการค้ากับผู้ซื้อในประเทศไทยให้โจทก์ทราบในฐานะเป็นผู้ติดต่อหาลูกค้าในประเทศไทยโจทก์ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ของบริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นเฉพาะกำไรสุทธิที่ทำการค้าในประเทศไทย ดังนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินกำไร เงินที่ลูกค้าส่งไปให้แก่บริษัท ม. ในประเทศญี่ปุ่นเป็นเงินค่าซื้อสินค้าไม่ใช่กำไร โจทก์จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในการจำหน่ายกำไรออกไปจากประเทศไทย
พิพากษายืน