คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บำนาญตกทอดไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะตายจึงไม่เป็นมรดก ฉะนั้นการที่ผู้จัดการมรดกฟ้องศาลให้พิพากษาให้ตนมีสิทธิเรียกบำนาญตกทอดมาจัดการมรดกจึงปราศจากมูลตามกฎหมายที่จะอ้างอิง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกพระยาสมบัติบริหารผู้ตายมีสิทธิเรียกบำนาญตกทอดพระยาสมบัติบริหารมาจัดการมรดกได้

ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าสิทธิในบำนาญตกทอดมิใช่เป็นมรดกของพระยาสมบัติบริหารโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกากล่าวว่า โจทก์อ้างสิทธิที่จะได้รับบำนาญตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494 ได้ความตามฟ้องโจทก์ว่าพระยาสมบัติบริหารเมื่อยังมีชีวิตเป็นผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่ ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2501 กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯพ.ศ. 2494 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 อันมีความว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 38 ผู้ใดได้รับบำนาญปกติอยู่ ฯลฯ ถึงแก่ความตาย ให้ทายาท หรือในกรณีที่ไม่มีทายาทก็ให้ผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะแล้วแต่กรณีของผู้นั้น ได้รับบำนาญตกทอดต่อไป ในอัตรากึ่งหนึ่งของบำนาญที่ได้รับ ฯลฯ”

บทบัญญัติมีดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่รัฐบัญญัติอำนวยให้บำนาญตกทอดนั้นเป็นการให้สิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือแก่ทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะโดยตรงหาได้ให้เป็นสิทธิเป็นทรัพย์แก่ข้าราชการผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่ก่อนตายหรือในขณะที่ถึงแก่ความตายอย่างไรไม่ ฉะนั้น บำนาญตกทอดนี้จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะตาย ไม่เป็นมรดกตามกฎหมายว่าด้วยมรดกแต่อย่างใดการที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของพระยาสมบัติบริหารจึงเป็นการฟ้องที่ปราศจากมูลตามกฎหมายที่จะอ้างอิงได้

คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว พิพากษายืน

Share