คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3997/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม แต่กำหนดโทษของจำเลยยังคงเดิมนั้น เป็นเพียงปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษแก่จำเลยเท่านั้น หาได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่างใดไม่ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๔ คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันพรากนางสาว ว. ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุ ๑๖ ปี ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองเพื่ออนาจาร โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วย จำเลยกับพวกใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าจะพาไปหาเพื่อนแล้วฉุดคร่าอุ้มพาลงเรือไป จำเลยกับพวกได้ร่วมกันฉุดคร่าผู้เสียหายไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา และจำเลยได้กระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ ๑ ครั้ง กับจำเลยได้หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในบ้านของจำเลยและจำเลยได้กอดจูบกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นประจำ ทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๗๘, ๓๑๐, ๓๑๘, ๘๓, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาฐานข่มขืนกระทำชำเรา และหน่วงเหนี่ยวกักขัง คงเหลือเฉพาะข้อหาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารข้อหาเดียว ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ วรรคสอง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๔ วรรคสาม โดยมิได้แก้กำหนดโทษ
จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ วรรคสาม ซึ่งโทษหนักกว่าวรรคสองเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๒
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลยแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๘ วรรคสาม ส่วนโทษของจำเลยยังคงเดิมนั้น เป็นเพียงปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลยเท่านั้น หาได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่างใดไม่จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒
พิพากษายืน

Share