คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3991/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้มีดพร้าเฉพาะตัวมีดยาว 15.5 นิ้ว กว้าง 1.8 นิ้วเป็นอาวุธฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว มิได้ฟันซ้ำ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสกระทำเช่นนั้นได้ ขณะจำเลยยกมีดขึ้นฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายยกมือซ้ายขึ้นปิดป้อง คมมีดจึงถูกผู้เสียหายที่ข้อมือซ้าย ใบหูซ้ายบริเวณท้ายทอยและกะโหลกศีรษะบริเวณท้ายทอยด้านซ้าย แม้จำเลยจะฟันถูกที่ศีรษะและบริเวณท้ายทอยซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ในขณะที่จำเลยฟัน ผู้เสียหายนั่งอยู่ใต้ซอกโต๊ะ และเป็นการฟันในทันทีหลังจากผู้เสียหายถูกผู้อื่นเตะล้มลง จำเลยจึงฟันส่งไป บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจึงเป็นการบังเอิญ และแม้มีดที่ฟันจะมีความยาวและความกว้างของใบมีดพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้แต่ความลึกของบาดแผลที่ท้ายทอยลึกเพียง 3 เซนติเมตร ที่ใบหูและข้อมือซ้ายลึกเพียง 0.5 เซนติเมตรเท่านั้น แสดงว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่แรง จำเลยจึงมิได้ฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าหากแต่มีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น เมื่อปรากฏว่ากระดูกบริเวณท้ายทอยแตกร้าวจะหายภายใน 6 สัปดาห์ อันเป็นการเจ็บป่วยจนประกอบกรณียกิจไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8) แม้โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา 288,80 ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีมีดพร้ายาวประมาณ 24 นิ้ว 1 เล่ม เป็นอาวุธบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของนายแดง รวดเร็ว ผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วใช้มีดพร้าดังกล่าวฟันผู้เสียหายที่บริเวณศีรษะหลายครั้งโดยเจตนาฆ่า และโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยลงมือกระทำความไปแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากแพทย์ได้ทำการรักษาผู้เสียหายไว้ได้ทันผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาจำเลย เพียง แต่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 367, 365, 288, 289, 80, 83 และริบมีดของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อบุกรุก แต่ปฏิเสธข้อหาพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา364, 365 และมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 12 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในหก คงจำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยกและให้ริบมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364 ประกอบมาตรา 365 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 364 ประกอบมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในหก คงจำคุก 10 ปีข้อหาอื่นให้ยกและให้ริบมีดของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า คืนเกิดเหตุจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของนายแดง รวดเร็ว ผู้เสียหาย แล้วใช้มีดพร้าของกลางเฉพาะตัวมีดยาว 15.5 นิ้ว กว้าง 1.8 นิ้ว ฟันผู้เสียหายได้รับบาดเจ้บ ตามรายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้อง ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของผู้เสียหาย นางพลอยสุต๋า ภรรยาผู้เสียหาย และเด็กชายชาญ รวดเร็ว บุตรของผู้เสียหายว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีบ้านอยู่ใกล้กัน โดยจำเลยเป็นญาติกับนางกลมภรรยาคนก่อนของผู้เสียหาย จำเลยเคยดื่มสุรากับผู้เสียหายเป็นประจำสาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายเนื่องมาจากคืนเกิดเหตุเด็กชายชาญไปล่าสัตว์ในป่าแล้วตกต้นไม้ได้รับบาดเจ็บ จึงถูกผู้เสียหายดุ ด่าด้วยเสียงอันดัง จำเลยกับพวกคือนายศรีนุ่ม สุต๋า กลับจากดื่มสุราผ่านบ้านผู้เสียหาย จำเลยไม่พอใจที่ผู้เสียหายดุ ด่าเด็กชายชาญ จึงขึ้นไปบนบ้านผู้เสียหาย เกิดทะเลาะโต้เถียงกัน แล้วจำเลยใช้มีดของกลางเป็นอาวุธฟันผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าสาเหตุดังกล่าวมิใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดทำให้จำเลยมีความโกรธแค้นต้องฆ่าผู้เสียหายตามคำเบิกความของผู้เสียหายตอบทนายจำเลยถามค้านก็ปรากฏว่า หลังจากจำเลยใชั มีดฟันผู้เสียหายแล้วผู้เสียหายยังคงนั่งพิงฝาอยู่ จำเลยหาได้ฟันซ้ำแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสจะกระทำเช่นนั้นได้ ตามคำเบิกความของผู้เสียหายว่า เมื่อผู้เสียหายถูกนายศรีนุ่นเตะล้มลง จากนั้นจำเลยก็ใช้เท้าเหยียบและใช้มีดฟันผู้เสียหายหลายครั้ง แต่จะกี่ครั้งก็ไม่ยืนยัน ส่วนนายศรีนุ่นเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เห็นจำเลยฟันผู้เสียหาย 1 ที พยานก็วิ่งหนีด้วยความตกใจ ส่วนนางพลอยเบิกความว่าเห็นจำเลยฟันผู้เสียหาย 10 กว่าครั้ง ศาลฎีกาพิเคราะห์บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับตามรายงานการชันสูตรบาดแผลท้ายฟ้องแล้ว ปรากฏว่ามีบาดแผลถูกฟันอยู่ 4 แห่ง แต่ละแห่งอยู่ข้างซ้ายของผู้เสียหายทั้งสิ้นคือบริเวณท้ายทอยด้านซ้าย ใบหูซ้าย กะโหลกศีรษะบริเวณท้ายทอยแตกร้าว และที่ข้อมือซ้ายหากจำเลยฟันผู้เสียหายถึง 10 กว่าครั้งดังคำเบิกความของนายพลอย บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับน่าจะมีมากกว่านี้ ตามลักษณะของบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ จำเลยน่าจะฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวตามที่จำเลยนำสืบ กล่าวคือมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าขณะจำเลยยกมีดขึ้นฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายยกมือซ้ายขึ้นปิดป้อง คมมีดจึงถูกผู้เสียหายที่ข้อมือซ้าย ใบหูซ้าย บริเวณท้ายทอยและกระโหลกศีรษะบริเวณท้ายทอยด้านซ้าย แม้จำเลยจะฟันถูกที่ศีรษะและบริเวณท้ายทอยซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายก็ตาม แต่ในขณะทีจำเลยฟันผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายนั่งอยู่ใต้ซอกโต๊ะ และเป็นการฟันในทันทีหลังจากที่ผู้เสียหายถูกนายศรีนุ่นเตะล้มลง ซึ่งในภาวะเช่นนั้น จำเลยน่าจะไม่มีโอกาสเลือกฟันผู้เสียหาย แต่เชื่อว่าน่าจะฟันส่งไปเท่านั้นเอง บาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับจึงเป็นการบังเอิญมากกว่า แม้มีดของกลางจะเป็นมีดพร้ามีความยาวและความกว้างของใบมีดพอที่จะทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อพิเคราะห์ความลึกของบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับแล้ว ปรากฏว่าที่บริเวณท้ายทอยมีความลึกเพียง 3 เซนติเมตร ที่ใบหูและข้อมือซ้ายก็ลึกเพียง 0.5 เซนติเมตรเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยฟันผู้เสียหายไม่แรงมากนัก เมื่อคำนึงถึงสาเหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นประกอบด้วยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้ฟันผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า คงมีเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 21 มิถุนายน 2532 ว่านายแพทย์กิจจา เจียรวัฒนกนก พยานที่โจทก์จะนำสืบต่อไปเป็นแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลผู้เสียหายในคดีนี้ มีรายละเอียดบาดแผลตามรายงานการชันสูตรบาดแผลเอกสารท้ายฟ้องจริง ซึ่งตามรายงานการชันสูตรบาดแผลดังกล่าวนายแพทย์กิจจา ได้บันทึกความเห็นไว้ว่า เฉพาะบาดแผลภายใน 7 วัน แต่กระดูกที่แตกจะหายภายใน 6 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกเมื่อได้ความว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บถึงกระดูกบริเวณท้ายทอยแตกร้าว อันเป็นการเจ็บป่วยจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันด้วย จึงต้องฟังว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าผู้เสียหายเพียงได้รับบาดเจ็บ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา297(8) แม้โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา297(8) และมาตรา 364 ประกอบมาตรา 365 ให้ลงโทษตามมาตรา 297(8)ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 6 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share