คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 17 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดองค์คณะผู้พิพากษาในคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2477 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้ ที่บัญญัติเรื่ององค์คณะของผู้พิพากษาในคดีทั่วไปมาใช้บังคับและคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีนี้ ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบทั้งสองฝ่ายได้ลงลายมือชื่อครบทั้งสามคนแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ จำเลยทั้งสิบซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้มีคำสั่งที่ ๓๖๖-๘๑๕/๒๕๔๑ ว่าการที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ ๑ ถึงที่ ๔๓๕ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และ ๑๒๓และให้โจทก์จ่ายค่าเสียหาย และมีคำสั่งว่าการที่โจทก์ไม่ให้ผู้กล่าวหาที่ ๔๓๖ถึง ๔๕๐ เข้าทำงานและไม่มอบหมายงานให้ทำเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และสั่งให้โจทก์จัดให้ผู้กล่าวหาที่ ๔๓๖ ถึง ๔๕๐ เข้าทำงานและมอบหมายงานให้ทำในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิม คำสั่งดังกล่าวของจำเลยทั้งสิบไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๐ โจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและผู้กล่าวหาจำนวน ๑๕ ข้อ ทั้งนี้เนื่องจากโจทก์ประสบภาวะค่าใช้จ่ายและสภาพคล่องทางการเงิน หลังจากยื่นข้อเรียกร้องแล้วได้มีการเจรจากันหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาโจทก์จึงได้ใช้สิทธิปิดงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ธันวาคม ๒๕๔๐ ในที่สุดลูกจ้างยินยอมตามข้อเรียกร้องของโจทก์ และได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกันไว้โดยให้มีผลใช้บังคับ ๒ ปี และโจทก์ตกลงเปิดงานให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม๒๕๔๑ เป็นต้นไป แต่เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๑ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโจทก์ได้พบเห็นบุคคลที่น่าสงสัยกระโดดลงไปนอกแนวกำแพงบริเวณด้านหลังโรงงาน และเมื่อตรวจสอบสถานที่แล้วพบถุงพลาสติก ๑ ใบภายในถุงมีขวดแก้วสีชาบรรจุอยู่ เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นยาอันตราย โจทก์จึงเรียกกรรมการมาประชุมเป็นการด่วน ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกจ้างและผู้บริโภคน้ำดื่มของโจทก์ ซึ่งก่อนหน้านี้โจทก์เคยได้ข่าวว่าจะมีผู้วางยาพิษในน้ำดื่มของโจทก์ ต่อมาในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๑ โจทก์จึงได้ประกาศให้ลูกจ้างรวมทั้งผู้กล่าวหาไปรายงานตัว ณ บริษัทสาขาของโจทก์ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๑ เพื่อเข้ารับการอบรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้สถานการณ์โดยโจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายผู้กล่าวหาและลูกจ้างได้ไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการอบรมเพียง ๒ วันคือวันที่ ๑๙ และวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๑ หลังจากนั้นไม่ไปอีก การกระทำดังกล่าวของผู้กล่าวหาที่ ๑ ถึง ๔๕๐ เป็นการฝ่าฝืนประกาศ และคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฐานละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร อีกทั้งเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๔)และ (๕) โจทก์จึงเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ ๑ ถึง ๔๓๕ เพราะเหตุละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีผลเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ (๔) จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ส่วนผู้กล่าวหาที่ ๔๓๖ ถึง ๔๕๐ เป็นกรรมการลูกจ้าง โจทก์จึงยังมิได้มีคำสั่งเลิกจ้าง แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างตามปกติ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งไม่ให้เข้าทำงานและไม่มอบหมายงานแต่ประการใด จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๓๖๖-๘๑๕/๒๕๔๑ ของจำเลยทั้งสิบ
จำเลยทั้งสิบให้การว่า ผู้กล่าวหาที่ ๑ ถึง ๔๓๕ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโพลาลิส มีผู้กล่าวหาที่ ๔๓๗ เป็นประธาน และผู้กล่าวหาที่ ๔๓๖ ถึง ๔๕๐ เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๐ โจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาโจทก์ใช้สิทธิปิดงาน (สาขางามวงศ์วาน) ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไป และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๑โจทก์กับลูกจ้างรวมทั้งผู้กล่าวหาทั้งหมดสามารถเจรจาตกลงกันได้ โดยลูกจ้างยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของโจทก์และได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกันไว้โดยให้มีผลใช้บังคับเป็นเวลา ๒ ปี และให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไป ต่อมาโจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ ๑ ถึง ๔๓๕ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับและโจทก์กระทำการให้ผู้กล่าวหาที่ ๔๓๖ ถึง ๔๕๐ ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ และ ๑๒๓ คำสั่งที่ ๓๖๖-๘๑๕/๒๕๔๑ของจำเลยทั้งสิบชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลูกจ้างของโจทก์ผู้มีส่วนได้เสียจำนวน ๑๓ คน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางยกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้พิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ไม่อาจรู้ได้ว่าโจทก์จะต้องปฏิบัติอย่างไรตามคำพิพากษา คำพิพากษาดังกล่าวมิได้เป็นคำพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบ ที่ ๓๖๖-๘๑๕/๒๕๔๑ เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง คำสั่งของจำเลยทั้งสิบดังกล่าวจึงยังคงมีผลบังคับอยู่ซึ่งโจทก์ย่อมทราบดีว่าโจทก์จะต้องปฏิบัติอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓วรรคหนึ่ง เพราะมีผู้พิพากษาลงชื่อเพียงนายเดียวเท่านั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๑๘ ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดองค์คณะผู้พิพากษาในคดีแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่นำพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๒๓วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีนี้ที่บัญญัติเรื่ององค์คณะของผู้พิพากษาในคดีทั่วไปมาใช้บังคับ และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางคดีนี้ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างได้ลงลายมือชื่อครบทั้งสามคนแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share