แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คู่ความได้แถลงต่อศาลโดยจำเลยแถลงว่า ถ้าโจทก์สาบาลต่อสิ่งศักดิสิทธิได้ว่าโจทก์ได้ให้จำเลยกู้เงินไปจริงตามฟ้อง จำเลยยอมแพ้คดี ถ้าโจทก์ไม่ยอมสาบาล โจทก์ยอมแพ้ ครั้งถึงกำหนดนัด โจทก์ไม่ยอมสาบาล ศาลชั้นต้นจดรายงานพิจารณาไว้ชัดเจนว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ยอมสาบาลจึงเป็นอันว่าโจทก์ยอมแพ้คดีแก่จำเลย (ที่ 1) ในครั้งนั้นมิได้มีการกล่าวอ้างที่หลงเข้าใจผิดแต่ประการใด ต่อมาอีกหลายวัน โจทก์ยื่นคำร้องอ้างว่าเข้าใจผิดในคำสาบาล ดังนี้ ย่อมรับฟังไม่ได้
เมื่อลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือกู้เงินโจทก์ไปโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยขาดส่งดอกเบี้ย จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่เคยทำหนังสือสัญญาลงลายมือชื่อกู้เงินโจทก์ และไม่เคยส่งดอกเบี้ยแก่โจทก์ ความจริงจำเลยที่ ๒ เป็นผู้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การรับตามฟ้องและขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ก่อน วันพิจารณาคู่ความแถลงในรายงานพิจารณามีความว่า “จำเลย (ที่ ๑) แถลงว่า ถ้าโจทก์สาบาลต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ (เจ้าแม่โกเหนี่ยว) ได้ว่า โจทก์ได้ให้จำเลย (ที่ ๑) กู้เงินไปจริงตามฟ้อง จำเลย (ที่ ๑) ยอมแพ้คดี โจทก์ยอมสาบาลตามคำของจำเลย (ที่ ๑) นัดสาบาลเวลา ๑๕.๐๐ น. ถ้าโจทก์ไม่ยอมสาบาล โจทก์ยอมแก้คดี ถ้าโจทก์สาบาลได้ว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินไปแล้ว จำเลย (ที่ ๑) ยอมแพ้คดี ครั้นถึงเวลานัด ฝ่ายโจทก์ไม่ยอมสาบาล จึงเป็นอันว่าฝ่ายโจทก์ยอมแพ้คดีแก่จำเลย ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้น ครั้นถึงวันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องขอทำความปราณีประนอมยอมความกับจำเลย โดยมิต้องให้ศาลพิพากษา ศาลอนุญาตให้เลื่อนไป ๗ วัน ครบกำหนด ๗ วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไป อ้างว่าการที่โจทก์ไม่ยอมสาบาลเพราะจำเลยนำสาบาลผิดจากที่ตกลงกัน ทั้งรายงานศาลก็จดผิดจากที่ตกลงกัน ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดในคำสาบาล จึงให้สืบพะยานโจทก์-จำเลยต่อไป แล้วฟังข้อเท็จจริงไปตามฟ้องโจทก์ พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามรายงานพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งจดไว้ชัดเจนว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ยอมสาบาล จึงเป็นอันว่าฝ่ายโจทก์ยอมแพ้คดีแก่จำเลย (ที่ ๑) ในครั้งนั้นมิได้มีการกล่าวอ้างว่าได้มีการหลงเข้าใจผิดแต่ประการใด ต่อมาอีกหลายวัน โจทก์จึงยื่นคำร้องว่าเข้าใจผิดในคำสาบาล ศาลชั้นต้นสั่งให้สืบพะยานโจทก์จำเลยต่อไป ไม่ชอบ.
เมื่อจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ก็หลุดพ้นความรับผิดไปด้วยตาม ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๔๕(๑)
พิพากษายืน.