แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงหลายอย่างประกอบกัน เช่น ใครเป็นผู้ตกลง รับโจทก์เข้าทำงานในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องพิจารณาว่าผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลหรือไม่ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้นทำในนามนิติบุคคลหรือในฐานะส่วนตัว งานที่ทำนั้นเป็นของใคร การทำงานของโจทก์มีอิสระหรือต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของใคร ใครเป็นผู้จ่ายเงินแก่โจทก์ อะไรบ้าง จำนวนแน่นอนหรือไม่กำหนดจ่ายเมื่อใด และจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานหรือเพื่อตอบแทนผลสำเร็จของงาน
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมายังไม่พอสำหรับการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่ ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 56 วรรคสอง หรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2536 จำเลยทั้งสามโดยเรือโทสุปรีดิ์ ศรีผดุง ได้ร่วมกันจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ดูแลฟาร์มกุ้งได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท และได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอีกร้อยละ 5 ของเงินขายกุ้งเมื่อขายกุ้งได้ ตั้งแต่ปี 2536 ถึง2541 จำเลยทั้งสามขายกุ้งได้เป็นเงินทั้งสิ้น 58,329,391 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์ตอบแทนจำนวน 2,916,467 บาท ซึ่งโจทก์รับมาแล้วบางส่วน คงค้างจ่ายจำนวน 1,895,394 บาทและระหว่างทำงานจำเลยทั้งสามค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 600,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจ่ายเงินผลประโยชน์จากการขายกุ้งที่ค้างจำนวน 1,895,394 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 600,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามไม่เคยตกลงให้ค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เคยขอคำแนะนำและปรึกษากับโจทก์เป็นบางครั้งแต่จำเลยที่ 2 ก็ได้ชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์และเรือโทสุปรีดิ์ ศรีผดุงเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน รู้จักกันมาประมาณ 45 ปี โจทก์เคยทำฟาร์มกุ้งมาก่อนเมื่อปลายเดือนมกราคม 2536 เรือโทสุปรีดิ์ ทำข้อตกลงกับโจทก์ ให้โจทก์ทำหน้าที่ดูแลกิจการฟาร์มกุ้งทั้งหมดแทนโดยมีอำนาจเบิกเงินจากธนาคารมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการว่าจ้างลูกจ้าง สั่งซื้อสินค้าที่ต้องการมาใช้ในกิจการแทนได้ จะให้ค่าตอบแทนร้อยละ 5 ของรายได้จากการจับกุ้งขาย และให้เบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ 10,000 บาท โดยไม่มีกำหนดจ่ายแน่นอน ข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างไว้แน่นอน และเบี้ยเลี้ยงก็ไม่มีลักษณะเป็นค่าจ้างเพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยได้รับจากจำเลยทุกเดือน ส่วนข้อตกลงที่โจทก์จะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 5 ของรายได้จากการจับกุ้งขายก็เป็นข้อสัญญาว่า โจทก์จะได้ค่าตอบแทนเมื่อโจทก์เลี้ยงกุ้งจนกระทั่งจับกุ้งขายได้อันมีลักษณะให้ถือผลสำเร็จของงาน กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสาม ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างและเงินผลประโยชน์จากการขายกุ้งหรือไม่ เพียงใด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าเรือโทสุปรีดิ์ตกลงให้โจทก์เข้าไปดูแลฟาร์มเลี้ยงกุ้งมีอำนาจที่จะจ้างหรือเลิกจ้างลูกจ้าง รวมทั้งมีอำนาจเบิกจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง ตกลงให้เบี้ยเลี้ยงเดือนละ 10,000 บาท และให้เงินตอบแทนในการจับกุ้งขายร้อยละ 5 ของยอดเงินที่ขายกุ้งได้เป็นลักษณะของการเข้าทำงานเต็มตัวตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้าง มิใช่เป็นการไหว้วานให้ช่วยงานกันในฐานะเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานานเท่านั้นการให้เบี้ยเลี้ยงเป็นประจำทุก ๆ เดือน และจ่ายอย่างมีกำหนดเวลาแน่นอนเดือนละ 10,000 บาท ถือว่าให้โจทก์ทำงานโดยมีค่าจ้างประจำที่แน่นอน เป็นสัญญาจ้างแรงงานส่วนเงินค่าตอบแทนร้อยละ 5 ของยอดเงินขายกุ้งได้นั้น ได้ตกลงอย่างชัดเจนและแน่นอนว่าจะให้จากยอดเงินที่ขายกุ้งได้ การตกลงเช่นนี้มิใช่เป็นการถือเอาผลงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิได้ตกลงกันว่าถ้ามีกำไรจึงจะได้รับเงิน หากขาดทุนจะไม่ได้รับเงินจึงเป็นข้อตกลงเรื่องค่าจ้างส่วนหนึ่งตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า การจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างหรือไม่ นั้นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงหลายอย่างประกอบกันเช่น ใครเป็นผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงาน ในกรณีที่เป็นนิติบุคคลต้องพิจารณาว่าผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานนั้น เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลหรือไม่ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนั้นทำในนามนิติบุคคลหรือในฐานะส่วนตัว งานที่ทำนั้นเป็นของใคร การทำงานของโจทก์มีอิสระหรือต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของใคร ใครเป็นผู้จ่ายเงินแก่โจทก์ อะไรบ้างจำนวนแน่นอนหรือไม่ กำหนดจ่ายเมื่อใดและจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานหรือเพื่อตอบแทนผลสำเร็จของงาน คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังไม่พอสำหรับการวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในกรณีต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นให้ครบถ้วนเสียก่อน
จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง หรือวรรคสามแล้วแต่กรณี ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกา