คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคสอง(2)และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง กับความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม้ดังกล่าวไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง ต่างเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง แม้จำเลยกระทำความผิดในวันเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน สำหรับความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 เป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นความผิดต่างกรรมกันกับความผิดสองกรรมดังกล่าวมาข้างต้น จึงต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ.มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้ว จึงต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 15
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยทำไร่และทำคอกเลี้ยงโค กระบือ เนื้อที่จำนวน 5 ไร่ อันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง เท่านั้นการที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นมาตรา 31 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชัดเจนศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

Share